ชาวบ้านคลองด่านหวั่นรัฐเสียค่าโง่เพิ่ม 300 ล้าน-สำรวจโครงการฯ พบเสื่อมโทรมหนักหลังทิ้งร้าง 12 ปี

Logo Thai PBS
ชาวบ้านคลองด่านหวั่นรัฐเสียค่าโง่เพิ่ม 300 ล้าน-สำรวจโครงการฯ พบเสื่อมโทรมหนักหลังทิ้งร้าง 12 ปี

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่สำรวจโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ หลังถูกปล่อยร้างนาน 12 ปี พบตึก-ท่อสูบน้ำเสียร้าวทรุด น้ำท่วมขังพื้นที่ด้านใน ด้านแกนนำชาวบ้านระบุ อาจสูญเงินค่าศึกษาเพื่อฟื้นโครงการฯ 300 ล้านบาทฟรี เหตุไม่มีรายงานของคณะทำงานฉบับใดระบุว่าคลองด่านเหมาะแก่การทำเป็นพื้นที่บำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม

จากกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณ 9,600 ล้านบาท จ่ายให้กับบริษัทเอกชนเป็นค่าเสียหายตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังบริษัทเอกชนฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ที่ยกเลิกสัญญาการก่อสร้างโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้องค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ศึกษาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ หลังจากปล่อยร้างมานาน 12 ปี ว่าสามารถนำกลับมาใช้งานอีกครั้งได้หรือไม่

วันนี้ (3 ธ.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 23,000 ล้านบาท และซื้อที่ดินอีก 1,900 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวพันกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มีนักการเมืองระดับอดีตรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 3 คน รวมถึงข้าราชการระดับสูงอีกเป็นจำนวนมาก

โดยในปี 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา 10 ปี ฐานใช้อำนาจทางการเมืองบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดทับที่ประกาศหวงห้าม ขณะนี้ นายวัฒนาอยู่ระหว่างหลบหนีคดี ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ และเมื่อย้อนดู สังคมไทยสูญเสียงบประมาณไปกับโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากมีการศึกษาเพื่อนำโครงการนี้กลับมาใช้งานอีกครั้ง โดยที่รัฐบาลในปี 2546 สั่งระงับโครงการฯ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เหตุเล็งเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงเกิดข้อสงสัยและคำถามจากหลายฝ่าย ถึงการที่ ครม.อนุมัติเงิน 300 ล้านบาท เพื่อใช้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นโครงการฯ อาจทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มอีกว่า จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า พื้นที่อาคารสำนักงานรกร้างมีน้ำท่วมถึง ตัวอาคารเริ่มเสื่อมสภาพมีรอยแตกร้าวและทรุดตัว สภาพภูมิทัศน์ภายนอกก็รกร้างเช่นกัน ส่วนสถานีสูบน้ำและควบคุมน้ำเสียก็มีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งหมด ทำให้แกนนำชาวบ้าน ต.คลองด่าน ไม่เห็นด้วยกับทุ่มงบประมาณศึกษาเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และควรกลับไปศึกษารายงานของคณะทำงานชุดต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานฉบับใดระบุว่าพื้นที่คลองด่าน เหมาะสำหรับการทำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่จากโรงงานอุตสาหกรรม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง