ผอ.ร.ร.-ผู้ปกครอง-นร. ขอให้ ศธ.ศึกษาผลกระทบวงกว้าง ก่อนรื้อฟื้นนโยบายซ้ำชั้นเรียน

สังคม
4 ธ.ค. 58
15:47
423
Logo Thai PBS
ผอ.ร.ร.-ผู้ปกครอง-นร. ขอให้ ศธ.ศึกษาผลกระทบวงกว้าง ก่อนรื้อฟื้นนโยบายซ้ำชั้นเรียน

แวดวงการศึกษากำลังเกิดข้อถกเถียง ถึงวิธีแก้ปัญหาเด็กที่มีผลการเรียนต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาทางสถานศึกษาหรือโรงเรียนมักช่วยเหลือด้วยการให้สอบซ่อมเป็นรายวิชา เพื่อให้ผ่านเลื่อนชั่น ต่างจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ที่มีแนวคิดว่า หากต้องการให้เยาวชนไทยมีพัฒนาการด้านการเรียนที่ดีขึ้น อาจต้องให้เรียนซ้ำชั้นเหมือนในอดีต ติดตามจากรายงาน

วันนี้ (4 ธ.ค. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักเรียน ร.ร.บางบัว หรือชื่อเดิม ร.ร.เพ่งตั้งตรงจิตรวิทยาคาร) ทั้ง 2 คน เรียนอยู่ชั้น ป.1 มาแล้ว 2 ปีการศึกษา โดย วรรณณี สุวรรณวิหค ครูประจำชั้นบอกว่า การเรียนในปีแรกทั้งคู่มีปัญหาด้านการอ่านเขียน ทำให้ผลการเรียนต่ำ จึงพิจารณาร่วมกับผู้ปกครองขอให้เรียนซ้ำชั้น ซึ่งหลังซ้ำชั้นในระดับ ป.1 มา 1 ภาคการศึกษาพบว่าทั้ง 2 คน พยายามเรียนรู้ จนสามารถอ่านและสะกดคำได้ ส่งให้ผลการเรียนดีขึ้น

การเรียนซ้ำชั้นนับเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ ร.ร.บางบัว นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา และเสริมพื้นฐานการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ทางการซ้ำชั้นจะทำในระดับอนุบาล และ ป.1 ซึ่ง อรรัมภา โพธิ์แดง ผู้อำนวยการ ร.ร.บางบัว ระบุว่า การซ้ำชั้นในเด็กเล็กนั้น ส่งผลกระทบทางจิตใจน้อยกว่าเด็กโต ทำให้การเพิ่มเติมทักษะวิชาการทำได้ง่ายกว่า

ล่าสุด พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย การตกซ้ำชั้น เพื่อนำมาใช้วัดประเมินผลคุณภาพนักเรียนก่อนเลื่อนชั้นเรียน

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 พบว่าการซ้ำชั้นนั้นทำได้ แต่สถานศึกษาต้องพิจารณาถึงวุฒิภาวะ ความรู้ ความสามารถผู้เรียนเป็นสำคัญ และต้องแจ้งให้ผู้ปกครองและผู้เรียนทราบถึงเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้น

อีกด้านหนึ่ง มีเสียงสะท้อนจากนักเรียนและผู้ปกครองบางส่วน เช่น สมบูรณ์ พงษ์พันธุ์สิงห์ และ สากล นอกกระโทก ทั้ง 2 คน ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะมองว่าทั้งโรงเรียนและครอบครัวควรช่วยกันแก้ปัญหาให้เด็ก มากกว่าการซ้ำเติมด้วยการให้เรียนซ้ำชั้น

ขณะที่มุมมองของ รศ.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การเรียนซ้ำชั้นอาจไม่เป็นธรรมกับนักเรียนที่มีปัญหาเพียงบางรายวิชา จึงควรใช้วิธีการเรียนซ้ำในวิชานั้นทั้งปีการศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และเป็นการต่อยอดสู่เนื้อหาในระดับที่สูงขึ้นได้

การศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของการเรียนซ้ำชั้น ด้วยการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้าน เป็นสิ่งที่ อรรัมภา โพธิ์แดง ผู้อำนวยการ ร.ร.บางบัว เห็นว่า จะช่วยให้การกำหนดนโยบายด้านการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการปัดฝุ่นนโยบายเรียนซ้ำชั้นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยอ้างถึงคุณภาพนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทำให้เยาวชนไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ จะต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง