ผลักดัน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก (1)

5 ธ.ค. 58
01:33
571
Logo Thai PBS
ผลักดัน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก  (1)

“กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ผืนป่าขนาดใหญ่ที่ติดกับเทือกเขาตะนาวศรี นับตั้งแต่จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นผืนป่าเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติ Taninthayi (ตะนี้นตายี) ประเทศเมียนมา ทำให้ในเชิงพื้นที่เมื่อผนวกแล้ว จะเป็นผืนป่าเดียวกัน ที่มีขนาดใหญ่

กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นทั้งเขตรอยต่อทางสัตวภูมิศาสตร์และเขตภูมิพฤกษ์ ที่สามารถพบชนิดพันธุ์สัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 700 ชนิด และยังพบพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นและต่างถิ่นหลากหลายชนิด เรียกได้ว่า เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

ด้วยความสมบูรณ์ ทำให้ไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิกที่ได้ลงนามในอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เห็นว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อ 10 ของแนวทางการดำเนินงานด้านมรดกโลก ที่ระบุว่า “ต้องเป็นถิ่นอาศัย ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์”

ในปี 2554 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการ ขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้เสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน บรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 เพื่อเสนอต่อศูนย์มรดกโลกที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยไทยนำเสนอเอกสารการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามลำดับ

ต่อมาปี 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 35 องค์การยูเนสโกมีมติเห็นชอบให้บรรจุพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในชื่อ Kaeng Krachan Forest Complex หรือ KKFC ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นตามที่ไทยได้เสนอ

ดร.ประเสริฐ สอนสถานรกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานมรดกโลก กล่าวว่า ตามขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนต่อศูนย์มรดกโลก เพื่อศูนย์มรดกโลกจะส่งต่อข้อมูลไปยัง องค์กรที่ปรึกษา ซึ่งกลุ่มป่าแก่งกระจาน ได้รับการประเมินพื้นที่มรดกโลกจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือ IUCN เมื่อปี 2557 ก่อนที่ส่งต่อข้อมูลให้คณะกรรมการมรดกโลกประเมินแหล่งมรดกโลกอีกครั้ง

ท่ามกลางความพยายามผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 39 ที่กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ด้วยการเร่งนำเสนอแผนโรดแมปการจัดการกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการทำงาน 4 ยุทธศาสตร์หลัก แต่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบข้อมูลของไทย แต่ยังให้ตีกลับข้อมูลกลุ่มป่าแก่งกระจาน เนื่องจากเห็นว่า ข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ทางการไทยนำเสนอ ยังไม่ใช่ข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด จึงขอให้กลับมาแก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญ ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก แสดงความกังวลต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนของชุมชนกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจาน จึงขอให้ทางการไทยมีแผนการจัดการชุมชนกะเหรี่ยง และการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ชัดเจนก่อนที่จะเสนอข้อมูลในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 40 ที่นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ในกลางปี 2559

ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานมรดกโลก กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการมรดกโลก ขอให้ไทยเพิ่มเติมข้อมูลด้านทรัพยากรให้ทันต่อสถานการณ์ ขณะที่ในระดับปฏิบัติการทั้ง 4 พื้นที่ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำภาชี เดินหน้าตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการป้องการและปราบปราม โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทั้ง 4 พื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้เดินลาดตระเวนทางพื้นดินไม่น้อยกว่า 3,000 กิโลเมตร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการทรัพยากรชีวภาพ สำรวจติดตามและปรับปรุงข้อมูลสัตว์ป่า เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยแท้ ที่พบในป่าแก่งกระจาน ที่มีความคืบหน้าในด้านการอนุรักษ์ หลังมีการสำรวจและศึกษาวิจัย จากผู้เชี่ยวชาญมาตั้งแต่ปี 2550 พบว่า ในถิ่นอาศัยของจระเข้น้ำจืดยังคงมีภัยคุกคามจากสัตว์ ที่กินไข่จระเข้ เช่น ตัวนาค และตัวเหี้ย ทำให้ในปี 2556 มีการเก็บไข่ที่ได้รับการผสมจากเพศผู้แล้วจำนวน 9 ฟองนำไปฟักที่ฟาร์มเอกชน ซึ่งฟักได้เพียง 7 ฟอง ยังอยู่ระหว่างการอนุบาลให้แข็งแรง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะรายงานคณะกรรมการมรดกโลกเพิ่มเติม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งหมด 5 เวทีรอบกลุ่มป่าแก่งกระจาน พบว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น สนับสนุนให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก และมีบางส่วนที่เป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่บ้านโป่งลึกบางกลอยที่ยังไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องมีการจัดเวทีอีกครั้ง เพื่อเน้นไปยังพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วย ว่ายังมีความเห็นและข้อเสนออย่างไร เจ้าหน้าที่ก็จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน และเร่งรัดแก้ปัญหาค้างเก่า เช่น การตรวจสถานะบุคคล การจัดสรรที่ทำกิน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ” ดร.ประเสริฐกล่าว

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการ ก็มีการตั้งคณะทำงาน โดยเพิ่มผู้แทนจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานแก้ปัญหา และมีการตั้ง CEO กลุ่มป่าเพื่อให้การบริหารจัดการร่วมกันทั้ง 4 พื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้แต่งตั้งให้ นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เป็น CEO กลุ่มป่าแก่งกระจาน

“หลังจากนี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย จะส่งรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์โรดแมป การบริหารจัดการพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ไปยังคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อพิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาอย่างเป็นทางการอีกครั้งในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 40 ที่นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ในกลางปี 2559 จะเป็นการชี้ชะตาว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานจะได้เป็นมรดกโลกหรือไม่ ” ดร.ประเสิรฐกล่าว

แม้ว่าภาครัฐจะพยายามเร่งผลักดันในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้ทันพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 40 ในช่วงกลางปี 2559 แต่จากประเด็นปัญหาการจัดการชุมชนกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ที่ภาครัฐพยายามเร่งแก้ปัญหา ทั้งที่ยังมีความขัดแย้งรุนแรง นับตั้งแต่ให้มีการอพยพชุมชนกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดิน และบางกลอยบนในปี 2539 ลงมาตั้งชุมชนใหม่ที่บ้านโป่งลึกบางกลอย

การอพยพย้ายจากถิ่นฐานมาตั้งชุมชนใหม่ โดยภาครัฐได้จัดสรรที่ดินทำกินให้นั้น ไม่สามารถปลูกข้าวและพืชอื่นๆได้ เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสมและไม่มีน้ำเพียงพอ ส่งผลกระทบกับวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่ต้องทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงขึ้นไปทำกินในถิ่นฐานเดิม แต่ก็มีเหตุการณ์เผาบ้านและอุปกรณ์ทำมาหากินของชาวบ้าน จนมีการฟ้องร้องศาลปกครองกลางและฟ้องร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน จนกระทั้งมาถึงเหตุการณ์ที่ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนป่าแก่งกระจาน หายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ แต่วันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เป็นเหตุผลที่ชุมชนกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานยังกังวลต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้

นายปลุ จีโบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บอกว่า ปัญหาที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกิน เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน และเรื่องสถานะบุคคล ยังแก้ไขได้ไม่ทั้งหมด นอกจากนี้แนวทางที่รัฐได้ดำเนินการที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ทำให้การใช้ชีวิตในแบบดังเดิมเป็นไปอย่างยากลำบาก จากที่เคยทำไร่เลื่อนลอยมีข้าวปลาอาหารที่เพียงพอ แต่เมื่ออพยพลงมาในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ กลับไม่สามารถทำไร่เลื่อนลอยในแบบเดิมได้ และไม่สามารถปลูกข้าวไป เพราะดินไม่เหมาะ กับการทำการเกษตร และไม่มีน้ำเพียงพอ

“เพราะปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข จึงเป็นสาเหตุที่ชาวกะเหรี่ยง ย้ายกลับไปในถิ่นฐานเดิม เพื่อยังชีพในแบบวิถีดั่งเดิม แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่เผาไล่ ทำลายบ้านเรือน และอุปกรณ์ทำมาหากิน สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่ที่เดิม แต่ไม่มีอะไรรองรับ ทำให้ยังมีชาวบ้านหลายครอบครัวอยู่อย่างลำบาก” นายปลุกล่าว

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางกลอย บอกต่อว่า หากกลุ่มป่าแก่งกระจานจะเป็นมรดกโลก ชาวบ้านไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่กังวลว่า อาจจะส่งผลให้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงเปลี่ยนไป อย่างที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการอพยพย้ายถิ่นฐานเมื่อปี 2539 เพราะจนบัดนี้ ปัญหายังแก้ไม่หมด และการเป็นมรดกโลก ก็ไม่เคยมีคณะกรรมการมรดกโลก เข้ามาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน ทำให้ส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าเมื่อเป็นมรดกโลกแล้ว พวกเขาจะเป็นอย่างไร พวกเขาไม่มีโอกาสเสนอปัญหา

นายวุฒิ บุญเลิศ ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ความกังวลของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ เป็นเรื่องของการให้ความหมายและการตีความคำนิยามของคำว่ามรดกโลก เพราะว่า ความหมายของคำว่ามรดกโลก มุ่งเรน้นความโดดเด่นของธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ภูเขา สัตว์ป่า แต่คนกะเหรี่ยงก็เป็นสิ่งที่มีชีวิต เหมือนกับพืชกับสัตว์ แต่คนกะเหรี่ยงกลับไม่ได้ถูกอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ถ้าการให้นัยยะของมรดกโลก ไม่ได้ตีความว่าคนมีคุณค่าพอๆกับต้นไม้และสัตว์ป่า มันก็จะมีผลกระทบ เพราะคนจะถูกปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และจะถูกมองว่า เป็นผู้สร้างเงื่อนไข เป็นผู้ทำลาย เป็นผู้คุกคามธรรมชาติ การให้ความหมายเรื่องนี้สำคัญมาก

“ที่ผ่านมาปัญหาเก่าในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเมื่อจะเป็นมรดกโลกเขาก็ไม่รู้ว่า มรดกโลกจะช่วยเขาอย่างไร เพราะในพื้นที่ก็ยังไม่ไว้วางใจภาครัฐ แต่พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการเป็นมรดกโลก เพียงแต่เรื่องสิทธิชุมชน การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม และการจัดสรรที่ดินทำกินยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเป็นมรดกโลกแล้ว ชีวิตพวกเขาจะดีขึ้นไหม” นายวุฒิกล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เสนอว่า เมื่อชาวบ้านไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ ควรมีคนกลาง หรือองค์กรกลางที่เป็นที่ยอมรับในสังคม มาจัดเวทีพูดคุยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ เพื่อที่พูดคุยถึงปัญหา และมาหาทางออกร่วมกัน ก่อนที่จะจัดทำแผนโรดแมปการจัดการกลุ่มป่าแก่งกระจาน ก็จะเป็นมรดกโลกที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่าย

“ที่ผ่านมาแผนโรดแมปเกิดจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว จึงเสนอว่าการเป็นมรดกโลกอาจจะไม่จำเป็นต้องรีบร้อน เพราะไม่มีใครปฏิเสธมรดกโลก แต่ถ้าเราแก้ปัญหาทั้งหมดที่คั่งค้างมานานได้แล้ว ก็เดินหน้าเป็นมรดกโลกได้ ซึ่งตอนนี้ปัญหายังไม่ถูกแก้ แต่จะเป็นมรดกโลกแล้ว ก็ไม่ได้การันตรีว่าจะยั่งยืน เพราะปัญหาในพื้นที่ยังมีอยู่ อนาคตก็อาจจะถูกขึ้นบัญชีภาวะอันตราย และถูกถอดจากการเป็นมรดกโลกได้ ในวันนั้นก็อาจจะเสียหน้ามากกว่านี้” นายวุฒิกล่าว

ในประเด็นนี้ นายกลม นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สะท้อนว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนบ้านโป่งลึกบางกลอยหลายครั้ง มีการเชิญผู้นำชุมชนมาประชุมรวมกัน ล่าสุดได้เชิญนายอำเภอแก่งกระจาน มาร่วมประชุมด้วย มีการพูดถึงประโยชน์ของการเป็นพื้นที่มรดกโลก และขอความคิดเห็นจากชาวบ้าน กรณีที่เจ้าหน้าที่เตรียมที่จะนำจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยแท้ ที่เอาไปฟักในฟาร์มเอกชน กลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ชาวบ้านก็เห็นด้วย

“เราพยายามแก้ปัญหาและมีการจัดการให้ชัดเจน ซึ่งเริ่มจากการจัดการเรื่องสถานะบุคคลให้กับชาวกะเหรี่ยง โดยจะต้องทำฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมามีจำนวนประชากร เฉพาะในพื้นที่บ้านโป่งลึกบางกลอยมีเพิ่มมากขึ้น จากเดิมมี 1,000 กว่าคน จนปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีทั้งประชากรแฝงในทะเบียนบ้าน มีทั้งผู้ไม่มีบัตรประชาชน และบางคนก็ไม่มีที่มาที่ไป เข้ามาในพื้นที่ ก็ย่อมส่งผลต่อการจัดการพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินทำกิน เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่พยายามจะแก้ปัญหา” นายกลมกล่าว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้นำชุมชน มีความคิดเห็นตรงกันในเรื่องจัดการฐานข้อมูลประชากร และเห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐ ในเรื่องของการจัดการประชากร ว่าจะทำให้การจัดการพื้นที่ทำได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านเรียกร้องขอที่ดินทำกิน แต่เมื่อประชากรไม่นิ่งก็ไม่สามารถจัดสรรได้ ทำให้ปัจจุบันนี้มีการตั้งศูนย์ควบคุมประชากรที่บ้านโป่งลึกบางกลอย โดยมีกรรมการจากหลายฝ่ายเข้ามาดำเนินงาน ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบคนที่เข้า-ออกพื้นที่ ว่าใช่คนในพื้นที่จริงหรือไม่

ส่วนประเด็นการจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่นั้น นายกลมระบุว่า ตั้งแต่มีการอพยพชุมชนกะเหรี่ยง ภาครัฐได้จัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวกะเหรี่ยงเสร็จไปแล้ว แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน เนื่องจากประชากรมากขึ้น และมีคนหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ชุมชนเดินมีการเรียกร้องว่าที่ดินทำกินไม่พอ มีการแย่งพื้นที่ทำกินกัน จึงต้องมาจัดการเรื่องของประชากรในพื้นที่ก่อน

เสาวนีย์ นิ่มปานพยุงวงศ์
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง