สร้างคนเพื่อสร้างชาติที่ "ดอนบอสโก ฟูตูมากา" อาชีวศึกษาอันดับ 1 ของ "ติมอร์ เลสเต"

ต่างประเทศ
9 ธ.ค. 58
06:51
513
Logo Thai PBS
สร้างคนเพื่อสร้างชาติที่ "ดอนบอสโก ฟูตูมากา" อาชีวศึกษาอันดับ 1 ของ "ติมอร์ เลสเต"

การวางรากฐานระบบการศึกษาเป็นหนึ่งภารกิจที่รัฐบาลติมอร์ เลสเตให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในกระบวนการสร้างชาติ หลังจากการแยกตัวออกมาจากอินโดนีเซียเมื่อปี 2002 และ "โรงเรียนเทคนิคดอนบอสโก ฟูตูมากา" ในเขตเบาเกา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงดิลี เมืองหลวงของติมอร์ประมาณ 100 กิโลเมตร นับเป็นรูปธรรมของความสำเร็จในงานพัฒนาด้านการศึกษาในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันดอนบอสโกได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนเทคนิคอันดับหนึ่งของติมอร์ที่สร้างเยาวชนทั้งชายและหญิงให้มีความชำนาญด้านงานช่าง

แม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ห่างจากเมืองหลวงไม่มากนัก แต่ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 3-4 ชั่วโมง เนื่องจากถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองเป็นถนนเล็กๆ ที่ขรุขระ ลัดเลาะภูเขาและชายฝั่งทะเล ด้วยเหตุนี้นักเรียนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องอยู่ประจำหอพักที่โรงเรียน

                        

<"">

สาธารณรัฐประชาธิปไตย์ติมอร์ เลสเต เป็นประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ตั้งอยู่บนเกาะติมอร์ตะวันออก ล้อมรอบด้วยพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรราวๆ 1,200,000 คน ใช้ภาษาเตตุม โปรตุเกส และอินโดนีเซียในการสื่อสาร

ติมอร์ เลสเตยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน เพราะการที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่ 11 ของอาเซียนได้นั้นจะต้องได้รับอนุมัติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์จากสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ขณะนี้สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่ยังไม่เห็นชอบให้ติมอร์เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในตอนนี้ เพราะเห็นว่าติมอร์ควรมีระบบการพัฒนาและโรดแมปด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่านี้ก่อน

แม้ว่าจะยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียน แต่รัฐบาลติมอร์ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและทำให้เพื่อนบ้านอาเซียนรู้จักติมอร์มากขึ้น จึงได้จัด "โครงการสื่ออาเซียนสัญจร" ขึ้นโดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ย.-1 ธ.ค.2558 มีสื่อมวลจาก 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนามและบรูไนร่วมโครงการ ตลอดระยะเวลา 8 วัน สื่อมวลชนได้เยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวติมอร์ สภาพบ้านเมือง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมในประเทศ เยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางศาสนา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาติ และการพัฒนาด้านการศึกษาของติมอร์ หนึ่งในนั้นคือการเยี่ยมโรงเรียนเทคนิคดอนบอสโก ฟูตุมากา (Technical School of Don Bosco Futumaca) รวมทั้งร่วมงานเฉลิมฉลองเอกราช 40 ปี ของติมอร์ เลสเต และ 500 ปี คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอริกในติมอร์

โรงเรียนเทคนิคดอนบอสโก ฟูตูมากาก่อตั้งปี 1964 ตั้งแต่ติมอร์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส เป็นโรงเรียนเอกชน รับนักเรียนอายุ 15-18 ปี เปิดสอน 4 สาขา ได้แก่ งานช่างไม้ งานโลหะ งานไฟฟ้าและงานอิเล็กทรอนิกส์

ภายในโรงเรียนแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ อาคารหอพัก ห้องเรียนทฤษฎี อาคารเรียนปฏิบัติซึ่งแบ่งเป็น 4 อาคารตามสาขาวิชา แต่ละอาคารนักเรียนชั้นปี 1-3 ต้องแบ่งพื้นที่กันเรียนเพราะพื้นที่มีจำกัด

                        

<"">

ระบบการศึกษาของติมอร์ในปัจจุบัน นักเรียนเรียนฟรีจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (เกรด 12) แต่เนื่องจากโรงเรียนเทคนิคดอนบอสโก ฟูตูมากา เป็นโรงเรียนเอกชน นักเรียนจึงต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเดือนละ 35 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,260 บาท) สำหรับนักเรียนไป-กลับ และ 45 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,615 บาท) สำหรับนักเรียนประจำ ใน 1 ปีนักเรียนจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียนทั้งหมด 10 เดือน ส่วนการเรียนการสอนนั้น เด็กๆ จะเรียนทฤษฎีในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายเรียนปฏิบัติ เรียนวันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์ครึ่งวันสำหรับปฏิบัติเพิ่มเติม

ก่อนปี 2009 โรงเรียนเทคนิคดอนบอสโกฯ เปิดรับเฉพาะนักเรียนชายเท่านั้น แต่ต่อมาได้เริ่มรับนักเรียนหญิง โดยรับนักเรียนหญิง 2 คนต่อสาขาต่อชั้นปี รวม 4 สาขา 3 ชั้นปี มีนักเรียนหญิงทั้งหมด 24 คน

อาจารย์อามิลการ์ คาบราล ดาซิลวา อธิบายเหตุผลที่โรงเรียนมีนโยบายเปิดรับนักเรียนหญิงว่า "ปัจจุบันงานช่างไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้ชาย มีเด็กผู้หญิงหลายคนสนใจ พวกเขาไม่ได้อยากจบไปเป็นช่างไม้ ช่างซ่อมรถนักเรียนส่วนใหญ่อยากมีพื้นฐานความรู้เพื่อไปเรียนต่อสูงๆ พวกเขามีฝัน อยากเป็นวิศวกร"

นักเรียนหญิงชั้นปี 1 สาขาวิชาช่างไม้คนหนึ่งเล่าว่าเธอเลือกเรียนวิชาช่างเพราะปัจจุบันผู้หญิงที่รู้งานช่างยังมีอยู่จำกัด ขณะที่ความต้องการในอุตสาหกรรมมีสูงขึ้น เธอตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้จากที่นี่ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติเป็นความรู้พื้นฐานเพื่อใช้สอบศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

                     

<"">

ปี 2015 โรงเรียนเทคนิคดอนบอสโก ฟูตูมากา มีนักเรียน 246 คน เปิดรับนักเรียนใหม่ปีละ 84 คน มีแผนขยายโรงเรียนเพื่อรองรับนักเรียนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมช่างฝีมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

โดยภาพรวม ชาวติมอร์ยังถือว่ามีระดับการศึกษาต่ำ แต่ก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลพยายามสนับสนุนให้ครอบครัวส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือด้วยการให้เรียนฟรี พร้อมทั้งจัดอาหารและนมให้นักเรียน ขณะที่นักเรียนที่มีผลการเรียนดีรัฐบาลติมอร์ก็จะให้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ เช่น อังกฤษ บราซิล คิวบา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย ปัจจุบันมีนักเรียนติมอร์ศึกษาอยู่ในประเทศไทยกว่า 80 คน ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทใน 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

กานดา แย้มบุญเรือง ผู้สือข่าวไทยพีบีเอส รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง