"เบน แอนเดอร์สัน" ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาเสียชีวิตในวัย 79 ปี

สังคม
13 ธ.ค. 58
07:38
1,490
Logo Thai PBS
"เบน แอนเดอร์สัน" ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาเสียชีวิตในวัย 79 ปี

เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาและเอเชียอาคเนย์ศึกษาเสียชีวิตช่วงเช้ามืดวันนี้ (13 ธ.ค.2558) ที่ประเทศอินโดนีเซีย นักวิชาการไทยระบุนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของแวดวงวิชาการไทย

สื่ออินโดนีเซียรายงานว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณเบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล หรือที่บรรดาลูกศิษย์และนักวิชาการไทยเรียกว่า "ครูเบน" หรือ "อาจารย์เบน" เสียชีวิตช่วงเช้ามืดวันที่ 12 ธ.ค.2558 โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองบาตู ชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันสาเหตุการเสียชีวิต แต่รายงานข่าวระบุว่าเขาหลับไปและปลุกไม่ตื่น เมื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลแพทย์ระบุว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

เว็บไซต์ Tempo สื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียรายงานว่า ศาสตราจารย์เบนเดินทางมาบรรยายพิเศษที่คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย (University of Indonesia) กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2558 ซึ่งนับว่าเป็นการบรรยายทางวิชาการครั้งสุดท้ายของเขา Tempo รายงานว่าศพของศาสตราจารย์เบนจะนำไปไว้ที่เมืองสุราบายาระหว่างที่เจ้าหน้าที่ติดต่อกับญาติของเขาที่สหรัฐฯ

ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กวันนี้ (13 ธ.ค.) ภายหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์เบนโดยระบุว่า "เป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของวงวิชาการไทยศึกษา เอเชียอาคเนย์ศึกษาและชาตินิยมของโลก"

อาจารย์เบนเป็นชาวไอริช เกิดที่ประเทศจีน หลังจากนั้นครอบครัวของเขาได้ย้ายมาอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เขาจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และจบปริญญาเอกด้านการปกครองที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ผลงานวิชาการที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือเรื่อง ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1983 ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 30 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยซึ่งมี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการแปล

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้พิมพ์หนังสือเรื่อง ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา (มีนาคม 2558) ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความและปาฐกถาของเบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน  เขียนถึงอาจารย์เบนไว้ในคำนำเสนอสำนักพิมพ์ว่า

"ในแวดวงไทยศึกษาคงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ในฐานะ "ยักษ์" ที่ต้องข้ามให้พ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขาหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ไทยศึกษาหาได้เป็นความสนใจแรกเริ่มของเบน ทั้งนี้เพราะความสนใจเริ่มต้นของเบนคือเรื่องอินโดนีเซีย ดังวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเรื่อง "The Pemuda Revolution: Indonesian Politics 1945-1946" (1967) รวมทั้งผลงานอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับอินโดนีเซีย แต่เพราะเผด็จการซูฮาร์โตซึ่งขึ้นมาครองอำนาจตั้งแต่ปี 1968 ทนข้อวิจารณ์ของเบนไม่ได้ อีกทั้งไม่มีอำนาจจับกุมคุมขัง เช่นที่ได้ทำกับปัญญาชนท้องถิ่นอินโดนีเซีย เบนจึงเพียงถูกห้ามเข้าประเทศอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปี 1972 (ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าอินโดนีเซียได้อีกครั้งในปี 1999 หนึ่งปีหลังจากเผด็จการซูฮาร์โตล้มลง)

"ความสนใจเรื่องไทยศึกษาของเบนหลังจากถูกห้ามเข้าอินโดนีเซีย น่าจะเกิดขึ้นเพราะความใกล้ชิดกับปัญญาชนไทยรุ่น 1960 ที่เดินทางไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่เบนสอนอยู่ ภูมิรู้เกี่ยวกับเมืองไทยของเขา นอกจากค้นคว้าเองแล้ว ยังได้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษารุ่นนั้น เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และทักษ์ เฉลิมเตียรณ นอกจากนี้ ดอกผลจากการลุกฮือขึ้นของนักศึกษาประชาชนเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการก็เป็นแรงผลักดันให้เบนตัดสินใจเรียนภาษาไทยและเดินทางมาพำนักที่ประเทศไทยในปี 1974 ในช่วงเวลานั้นเอง สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่ได้รับจากอินโดนีเซียทำให้เบนส่งสัญญาณเตือนบรรดาลูกศิษย์และคนใกล้ชิดว่าเหตุร้ายกำลังจะย่างกรายเข้ามาในไม่ช้า

"แม้เบนจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ความโหดร้ายของอาชญากรรมรัฐที่เกิดขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเขียนจดหมายเปิดผนึกประท้วงการรัฐประหารเลือด เบนหวังว่าจะมีนักวิชาการด้านไทยศึกษาในสหรัฐอเมริการ่วมลงนามด้วย ทว่าผิดคาด นักวิชาการเหล่านั้นไม่ร่วมลงนามด้วยแม้แต่คนเดียว มีเพียงจอร์จ เคฮิน (George Kahin) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และเจมส์ สก็อต (James C. Scott) จากมหาวิทยาลัยเยล เพียงสองคนเท่านั้นที่ลงนามร่วมกับเบน โดยจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ความสะเทือนใจจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผนวกกับความผิดหวังต่อนักวิชาการไทยศึกษาในสหรัฐอเมริกา กระตุ้นให้เบนเขียนบทความ 2 ชิ้น ซึ่งสำคัญมากสำหรับปริมณฑลไทยศึกษา คือ "Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup” (1977) และ "Studies of the Thai State: The State of Thai Studies" (1979)"

คำนำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่เขียนถึงอาจารย์เบนทิ้งท้ายว่า "คงไม่มีใครปฏิเสธว่างานเขียนและปาฐกถาทางวิชาการของเบน แอนเดอร์สันนั้นครบรสและกลมกล่อมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่มันให้ทั้งความรู้ที่ลึกซึ้งกว้างขวาง ความเข้าอกเข้าใจเห็นใจเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกดขี่ และสุนทรียะทางภาษาในระดับใกล้เคียงกับการอ่านวรรณกรรมชั้นดี และ "สปิริตสำคัญที่เบนมอบให้กบแวดวงไทยศึกษา คือการมองรัฐไทยและการศึกษารัฐไทยอย่างวิพากษ์ แน่นอนว่างานของเบนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารัฐไทยด้วยเช่นกัน"

ตลอดทั้งวันนี้ นักวิชาการและปัญญาชนไทยจำนวนมากได้เขียนข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของอาจารย์เบน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง