สปช.ค้านเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากกรอบเวลาโรดแมป

การเมือง
24 เม.ย. 58
12:30
71
Logo Thai PBS
สปช.ค้านเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากกรอบเวลาโรดแมป

วิป สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นตรงกันว่า ไม่ควรเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงาน หรือโรดแมปของ คสช. เว้นแต่กรณีเปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมขอความเห็นจากหัวหน้าพรรคการเมืองรวม 74 พรรค เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ

วันที่ 5 ของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และวันนี้ (24 เม.ย.2558) เป็นวันแรกที่มีความเห็นต่างของการพิจารณาภาค 3 ว่าด้วยหลักนิติธรรม ศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงหลักการและเหตุผลของการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของศาลและให้กระบวนการดำเนินไปอย่างโปร่งใสและไม่ล่าช้า พร้อมยืนยันว่าการกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมเป็นคณะกรรมการตุลาการ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง แต่ต้องการให้เปิดกว้างรับทัศนะจากผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวิชาชีพ

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยกับข้อบัญญัติที่ให้บุคคลภายนอกร่วมเป็นคณะกรรมการตุลาการ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง พร้อมเสนอให้การพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมี 2 ศาลคือ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนักการเมือง

นอกจากนี้ยังมีความเห็นต่อกรณีข้อเสนอจากวงหารือของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ที่มีข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปจากโรดแมปที่วางไว้ โดยทั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช.ต่างไม่เห็นด้วย โดยให้ความเห็นว่า การดำเนินการควรเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ เว้นแต่กรณีที่มีการทำประชามติ
 
ส่วนการรวบรวมความเห็นประกอบการทบทวนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมลงนามในหนังสือขอความเห็นประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรคและแนบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยกำหนดให้ส่งความเห็นกลับมายังกรรมาธิการภายใน 1 เดือนเพื่อประกอบการปรับแก้เนื้อหาร่วมกับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากองค์กรที่เกี่ยวข้องและความเห็นของทุกภาคส่วนในช่วง 60 วันสุดท้ายของการยกร่างรัฐธรรมนูญ

และระหว่างวันที่ 1 - 6 มิถุนายน2558 จะมีการประชุมแม่น้ำ 4 สาย เพื่อนำความเห็นที่ได้มีการเสนอมาไปพิจารณาปรับแก้เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง