หัวใจแทนดวงตา เมื่อผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพด้วยใจ

สังคม
18 ธ.ค. 58
15:31
668
Logo Thai PBS
หัวใจแทนดวงตา เมื่อผู้พิการทางสายตาถ่ายภาพด้วยใจ
"เราจะเห็นอะไรได้เพียงด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา" ประโยคอมตะจากนิทาน เจ้าชายน้อย อาจไม่ห่างไกลจากเรื่องราวที่ผู้พิการทางสายตาที่รักในการถ่ายภาพ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ชวนไปรู้จักผู้พิการทางสายตาที่จับกล้องลั่นชัตเตอร์

หนึ่งก้าว สองก้าว สามก้าว...โอเค!
เสียงบอกจากอาสาสมัครให้ชายตรงหน้าก้าวถอยหลังเพื่อยืนในจุดระยะพอเหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคลตัวเต็ม ก่อนที่เขาจะยกกล้องขึ้นประทับหว่างคิ้ว หันเลนส์หน้ากล้องมุ่งไปยังเสียงปรบมืออันเป็นสัญญาณนำทางบอกให้รู้ตำแหน่งของผู้ถูกถ่ายภาพ แล้วกดชัตเตอร์…

"ผมสนใจถ่ายรูป ผมมีความฝันอยากเป็นนักเขียน อยากเป็นตากล้อง ที่ผ่านมาถ่ายรูปสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง โฟกัสผิดจุดบ้าง บางทีก็เบลอ เล็งแล้วเล็งอีก" จักริน นามทองใบ หรือ "โฟร์" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วัย 23 ปี ผู้มีสายตาเลือนราง (Low vision) ที่มองเห็นได้ในระยะ 4 เมตร เล่าให้ฟังถึงความชอบในการถ่ายภาพ การมองเห็นเลือนรางตั้งแต่เกิดเพราะต้อกระจกในดวงตาไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้โฟร์ปฏิเสธความชอบของตัวเองในการกดชัตเตอร์ถ่ายรูปอย่างที่คนสายตาปกติทำได้

"ส่วนใหญ่ผมถ่ายรูปเพื่อนๆ เพื่อนที่ตาบอดชอบให้ผมถ่ายให้ ไปๆ มาๆ ผมเลยติดกล้องไม่รู้ตัว บางครั้งก็เซลฟี่บ้าง ผมไม่รู้สึกว่าการถ่ายรูปมันง่ายหรือยาก แต่ผมชอบเล็งแล้วเล็งอีกภาพชอบเฉ เพราะมือเราไม่นิ่ง"

โฟร์เริ่มจับกล้องถ่ายตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม ซึ่งเป็นช่วงที่โทรศัพท์มือถือทัชสกรีนถ่ายภาพได้เริ่มเป็นที่นิยม แต่เป็นครั้งแรกที่เขาได้เรียนรู้ทักษะการถ่ายภาพ จากอาสาสมัครกลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปันหรือ "PICT4ALL" กลุ่มผู้รักการถ่ายภาพที่รวมตัวเป็นจิตอาสาสอนคนตาบอดถ่ายภาพมาแล้วกว่า 5 ปี                                             

โฟร์ เรียนรู้การจับกล้อขนาบหว่างคิ้วเพื่อให้ภาพตั้งฉาก โดยมีครูอาสา หน่อย ให้คำแนะนำ

"โฟร์" เรียนรู้การจับกล้อขนาบหว่างคิ้วเพื่อให้ภาพตั้งฉาก โดยมีครูอาสา "หน่อย" ให้คำแนะนำ

"โฟร์" เรียนรู้การจับกล้อขนาบหว่างคิ้วเพื่อให้ภาพตั้งฉาก โดยมีครูอาสา "หน่อย" ให้คำแนะนำ

 

กล้องคอมแพ็คขนาดเล็ก ถูกแนะนำให้ทำความรู้จักปุ่มใช้งานเปิดปิด ปุ่มชัตเตอร์ การใส่แบตเตอรีบนตัวกล้องไปจนถึงรูปทรงของเมมโมรีการ์ดและช่องเสียบ นี่เป็นบทเรียนแรกที่ครูอาสาแนะนำให้แก่โฟร์ รวมไปถึงน้องๆ ผู้พิการทางสายตาที่ครูอาสาของ PICT4ALL ตระเวนจัดค่ายสอนมาแล้วทั่วประเทศ

"หน่อย" สุภาวดี ยุธิษยานุวัฒน์ มัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่นสาว วัย 39 ปีเป็นครูอาสาร่วมกับ PICT4ALL ปีที่ 3 แล้ว หน่อยเล่าว่าการทำความรู้จักส่วนต่างๆ ของกล้องเป็นขั้นแรกในการสอน ซึ่งตอนที่เธออบรมการเป็นครูอาสาจากรุ่นพี่ในชมรมหน่อยต้องปิดตาด้วยเพื่อให้ "รู้สึก" แบบเดียวกับที่น้องๆ ผู้พิการทางสายตารู้สึก

ขั้นต่อมาครูอาสาจะแนะนำมารยาทเมื่อต้องเข้าไปถ่ายภาพบุคคคล เด็กๆ ต้องขออนุญาตจับบริเวณไหล่เพื่อกะระยะความสูงของผู้ที่ถูกถ่ายภาพ จากนั้นจึงถอยก้าวเพื่อวางระยะของกรอบภาพ เริ่มแรกครูอาสาจะหัดให้ถ่ายรูป 1 คน 2 คน และ 3 คน ตามลำดับ ซึ่งถ้าผู้ถูกถ่ายภาพมี 2 คน ก้าวที่นักเรียนจะต้องถอยจะบวกเพิ่มไป 1 คน 1 ก้าว และถ้ายิ่งมากคน ผู้ถ่ายภาพจะต้องขออนุญาตจับไหล่ผู้ถูกถ่ายทีละคนเพื่อหาจุดตรงกลางในการสร้างสมดุลของภาพ หลังจากนั้นจึงเริ่มถ่ายภาพธรรมชาติและวัตถุ

"สอนครั้งแรก ยากมาก ตื่นเต้นว่าจะสอนน้องได้ดีไหม น้องจะรู้เรื่องและทำได้ไหมจะรู้สึกเบื่อไหม เรากลัวเราสอนได้ไม่ดี แต่น้องๆ เปิดใจเรียนรู้และเรียนรู้ได้ไวมาก ประสาทสัมผัสดีมาก สอนครั้งเดียวก็สามารถใส่แบตฯ การ์ด แล้วถ่ายรูปได้ และถ่ายรูปได้ดี" หน่อยกล่าวถึงลูกศิษย์คนแรกวัย 17 ปี จากเชียงใหม่เมื่อ 3 ปีก่อน

ตรวจผลงานเมื่อลองถ่ายภาพ

ตรวจผลงานเมื่อลองถ่ายภาพ

ตรวจผลงานเมื่อลองถ่ายภาพ

 

ฟังดูเหมือนว่าคนตาบอดถ่ายรูปได้ง่ายดาย แต่การก้าวถอยหลังที่ธรรมชาติของมนุษย์ไม่คุ้นชินโดยเฉพาะคนที่มองไม่เห็นเป็นเรื่องที่ท้าทายความหวาดหวั่นว่าจะชนเข้ากับสิ่งที่มองไม่เห็นด้านหลัง หน่อยอธิบายว่านี่เป็นข้อขัดข้องเล็กๆ น้อยๆ ของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาที่มักกลัวการถอยหลัง เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การสอนคนที่ตาบอดสนิทจะง่ายกว่าคนที่สายตาเลือนราง เพราะผู้มีสายตาเลือนรางจะพอมองเห็นแสง นั่นทำให้มีการแอบมองที่จอแอลซีดีของกล้องบ้าง ซึ่งทำให้การตั้งกล้องจับภาพไม่นิ่ง

"พอแอบมองนิดเดียวภาพเบี้ยวทันที แต่ว่าเวลาสอนเราไม่ได้ต้องเอาให้รูปสวย แต่เราให้เขาถ่ายอย่างมีความสุข ทุกอย่างเรียนรู้ต้องสนุก" หน่อยให้ความเห็น

"เราไม่อยากพูดว่าเราคิดวิธีการสอนคนตาบอดถ่ายภาพ แต่เราอยากเรียกว่าเราค้นพบ เพราะเป็นสาธารณสมบัติ เป็นของธรรมชาติ ที่เราค้นพบวิธีนี้ เรายินดีที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วม" นพดล ปัญญาวุฒิไกร หรือ "พี่ฉุน" พี่ใหญ่ของกลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน PICT4ALL

พี่ฉุนเล่าว่ากลุ่มของเขาเริ่มรวมตัวกันราวปี 2547-2548 เริ่มแรกเป็นกลุ่มอาสาสอนคนทั่วไปถ่ายภาพและช่วยเหลือเด็กนักเรียนในชนบท ผ่านไป 6 ปี พวกเขาเริ่มทบทวนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมใหม่ จังหวะนั้นได้แรงบันดาลใจจากครูสอนถ่ายภาพของพวกเขาที่อยากให้การถ่ายภาพเข้าถึงคนทุกคน โดยเฉพาะคนพิการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ PICT4ALL เริ่มสอนคนตาบอดถ่ายภาพตั้งแต่ปี 2553

"สังคมมองว่าการถ่ายภาพต้องอาศัยการมองเห็น แต่เราจะทำให้คนมองไม่เห็นถ่ายภาพได้ จุดนั้นเราตั้งคำถามว่าการให้อย่างไรคือการให้ที่ยั่งยืน การที่พวกเขาด้อยโอกาส จริงๆ แล้วคือแค่ด้อยโอกาส แต่ไม่ใช่ไร้โอกาส แต่ด้อยกลายเป็นไร้ เพราะความคิดของเราเอง" พี่ฉุนกล่าวถึงความตั้งใจ

แต่จากความตั้งใจที่มีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ แม้ว่าจะมีต้นทุนจากการสอนคนสายตาปกติถ่ายภาพมาแล้ว แต่การสอนคนตาบอดไม่ใช่อย่างที่คิดเลย หลังจากสืบค้นวิธีการพี่ฉุนบอกว่าพบเทคนิคที่ต่างประเทศแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยถึงวิธีการ

"ผมก็ลองเป็นคนตาบอดเสียเอง....” พี่ฉุนเล่าว่าลองไปเป็นคนตาบอดอยู่ 3 วัน ไปถ่ายภาพในที่ที่ไม่เคยไป จังหวะนั้นเองที่พี่ฉุนบอกว่าได้พบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ชดเชยให้กับการสูญเสียการมองเห็น ด้วยประสาทสัมผัสด้านอื่น เช่น เสียงมีมิตินำทาง แม้กระทั่งกลิ่น

"ตอนที่ผมเป็นคนตาบอด เราติดกรอบของคนตาดีว่าต้องถือกล้องออกจากดวงตาของเรา เพราะเราเคยชินกับการมองจอแอลซีดีของกล้อง ปรากฏว่าเวลาถ่ายภาพสมมติว่ามีคนในภาพ 10 คน เราถ่ายได้ระนาบแค่ 5 คน อีก 5 คนไม่ได้ เราได้เรียนรู้จากเด็กตาบอดคนหนึ่ง เราถามว่าแก้ปัญหายังไงดี เขาบอกว่าไม่เห็นยากเลย ก็เอากล้องไว้ที่หว่างคิ้วสิ ตอนนั้นเราหัวเราะก๊ากเลย ถ่ายภาพไม่จำเป็นต้องมองเห็น เอาจอติดไว้ที่หน้าผากเป็นจุดที่ดีที่สุด สุดท้ายเราถอดความเป็นตัวตนของคนตาดีไม่หมด"

ผู้เข้าชมนิทรรศการ

ผู้เข้าชมนิทรรศการ

ผู้เข้าชมนิทรรศการ "๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานภาพถ่ายของนักเรียนในโลกมืด" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-13 ธ.ค.2558

 

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา PICT4ALL ได้จัดนิทรรศการ "๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานภาพถ่ายของนักเรียนในโลกมืด" ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของนักเรียนผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศ 244 คน ภายใต้หัวข้อ "ภาพที่มีทุกบ้าน" โดยสมาชิกของกลุ่มตระเวนสอนให้กับนักเรียนตาบอดทั่วประเทศ และพาลงพื้นที่เพื่อให้เด็กๆ ได้ถ่ายทอดภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมุมมองของพวกเขา

 

ที่ผ่านมาคณะครูอาสาหัวใจถ่ายภาพ สอนนักเรียนผู้พิการทางสายตา ทั้งตาบอดสนิทและมองเห็นเลือนรางมาหลายรุ่น ผู้ที่ผ่านการอบรมกว่า 450 คน ช่วงหลังเริ่มสอนให้เด็กๆ เขียนคำอธิบายเล่าเรื่องภาพด้วยอักษรเบรลล์ที่ด้านหลังภาพถ่าย พี่ฉุนบอกว่านี่เป็นการทำให้โลกของเด็กๆ เชื่อมต่อกับสมาชิกในครอบครัวได้มากขึ้น เมื่อมีภาพถ่ายติดมือกลับบ้าน เรื่องเล่าจากการกดชัตเตอร์ที่ถูกถ่ายทอดลงกระดาษได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางแบ่งปันเรื่องราวโลกที่เด็กๆ ไปพบนอกบ้าน

"เรามักคิดว่าความสุขอยู่ที่ผลลัพธ์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ความสุขอยู่ที่ระหว่างทาง อยู่ที่กระบวนการมากกว่า อันนี้ของจริงที่เราเก็บเกี่ยวไปตลอดทาง ถึงแม้ผลลัพธ์เกิดขึ้นตามนั้นแล้ว เราจะสุขตามที่คาดหวังหรือเปล่า"

นี่อาจเป็นคำตอบว่าทำไมการถ่ายภาพด้วยหัวใจจึงมองเห็นความสวยงาม ไม่แพ้ภาพที่ถ่ายผ่านดวงตาของคนสายตาปกติ

สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้การสอนคนตาบอดถ่ายภาพ สามารถติดตามข้อมูลและพูดคุยกับกลุ่ม PICT4ALL ได้ที่กลุ่มเฟซบุ๊ก “สอนคนตาบอดให้ถ่ายภาพ” และ www.pict4all.com

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง