ประชุม ครม.ไทย-กัมพูชา ชื่นมื่น เซ็นบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ กระชับสัมพันธ์การเมือง-ศก. รอบ 12 ปี

การเมือง
19 ธ.ค. 58
21:13
402
Logo Thai PBS
ประชุม ครม.ไทย-กัมพูชา ชื่นมื่น เซ็นบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับ กระชับสัมพันธ์การเมือง-ศก. รอบ 12 ปี
การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 12 ปี ของผู้นำกัมพูชา นำไปสู่ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และแรงงาน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังไทยและกัมพูชาเกิดกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนหลายครั้ง ติดตามจากรายงาน

วันนี้ (19 ธ.ค. 2558) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ประเทศกัมพูชา แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 ในวันนี้ (19 ธ.ค. 2558) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี เสร็จสิ้น โดยในที่ประชุมมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 5 ฉบับได้แก่ 

1.ข้อตกลงว่าด้วยเจตนารมย์ทางการเมือง ที่นำไปสู่การขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ มากขึ้น

2.ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน

3.ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานไทยกัมพูชา ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้การจ้างงานชาวกัมพูชาในไทยมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

4.บันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาจุดผ่านแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน จ.สระแก้ว และที่สตึงบท จ.บันเตียนเมียเจย ที่ประเทศกัมพูชา

และ 5.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจไทยกัมพูชาและสภาธุรกิจกัมพูชาไทย ซึ่งนอกเหนือจากความตกลงด้านเศรษฐกิจ การค้า และแรงงานแล้ว ยังมีการหารือถึงความร่วมมือในการจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่


พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงนี้ ถือว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่ สมเด็จฯ ฮุน เซน กล่าวว่า ขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความร่วมมือดีตลอดมา และชื่นชมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามมกุฏราชกุมารี ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีไทย-กัมพูชาครั้งที่ 3 จะมีขึ้นอย่างแน่นอนและจะจัดที่กัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือสองประเทศต่อไป นอกจากนี้ฝ่ายกัมพูชาจะประพันธ์บทเพลงที่สื่อถึงความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาขึ้นมาใหม่ด้วย

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ของสมเด็จฯ ฮุน เซน ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ไม่มีการหยิบยกปัญหาพื้นที่พิพาทปราสาทพระวิหาร และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณแนวชายแดนไทยกัมพูชาขึ้นมาหารือแต่อย่างใด แต่คาดว่าอาจแยกไปเจรจาในวาระอื่นที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจทำลายบรรยากาศการพูดคุย และเกิดกระแสไม่พอใจจากประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง