“ดีแทค” แก้เกี้ยวนำ 70,000 ล้าน พัฒนาเครือข่าย-แถลงแผนใหม่ 21 ธ.ค.นี้ หลังวืด 4จี

เศรษฐกิจ
19 ธ.ค. 58
22:34
122
Logo Thai PBS
“ดีแทค” แก้เกี้ยวนำ 70,000 ล้าน พัฒนาเครือข่าย-แถลงแผนใหม่ 21 ธ.ค.นี้ หลังวืด 4จี
การประมูล 4จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้ไทยได้ผู้ประกอบการบริการสัญญาณโทรศัพท์รายใหม่ คือ แจส โมบาย ส่วน ทรู ได้ถือครองใบอนุญาต 4จี ทั้ง 2 คลื่นความถี่ ทำให้ ดีแทค ที่ไม่ชนะประมูล ต้องกลับไปพิจารณาแผนลงทุนพัฒนาเครือข่าย ติดตามจากรายงาน

วันนี้ (18 ธ.ค. 2558) รอยยิ้มอย่างชื่นมื่นของผู้บริหาร แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด นำทีมโดย นายสมบัติ พันศิริพันธ์ กรรมการผู้จัดการ เกิดขึ้นหลังทราบผลว่าเป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาต 4จี คลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิรตซ์ ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท ได้สิทธิ์ถือครองในใบอนุญาตที่ 1 เป็นเวลา 15 ปี

ส่วน ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชัน เป็นอีกบริษัทที่ชนะประมูลในใบอนุญาตที่ 2 ด้วยราคา 76,298 ล้านบาท ซึ่งทางผู้บริหารยังไม่ให้สัมภาษณ์ แต่เตรียมแถลงแผนการดำเนินหลังจากนี้อย่างเป็นทางการ หลังได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ยอมรับว่า ที่เสนอราคาสุดท้ายของใบอนุญาตที่ 2 จำนวน 75,976 ล้านบาท แต่ไม่เคาะราคาสู้ต่อเพราะขณะนั้น ราคาประมูลสูงเกินกว่าราคาที่วางแผนไว้ แต่พร้อมนำคลื่นความถี่อื่นที่ชนะประมูล 4จี ก่อนหน้า มาให้บริการลูกค้า

ดังนั้น บทบาทหนักจึงตกอยู่กับ โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน ที่ไม่ชนะการประมูลทั้ง 2 ครั้ง โดยราคาสุดท้ายที่เสนอในใบอนุญาตที่ 1 ในการประมูล 4 จี รอบที่ 2 อยู่ที่ 70,180 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ทางผู้บริหารของดีแทคนยืนยัน จะเร่งขยายโครงข่าย 4จี ที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุม และนำเงินที่ใช้แข่งเคาะราคา 70,000 กว่าล้านบาท กลับมาพิจารณาแผนลงทุนพัฒนาเครือข่าย และแถลงแผนดังกล่าวเป็นทางการในวันที่ 21 ธ.ค. 2558

ด้าน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า มั่นใจว่าการมีผู้ประกอบการรายใหม่ และเป็นรายที่ 4 เข้าสู่ตลาดโทรคมนาคม จะช่วยให้อุตสาหกรรมเกิดการแข่งขัน ซึ่ง กสทช.พร้อมสนับสนุนทั้ง 4 ราย ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งด้านราคาและสัญญาณ

การประมูลประมูลใบอนุญาต 4จี คลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิรตซ์ ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 65.55 ชั่วโมง มีการเคาะราคารวม 198 รอบ มีราคาประมูลรวมทั้ง 2 คลื่นความถี่ ที่จะเป็นรายได้เข้ารัฐจำนวน 151,952 ล้านบาท

โดยวันที่ 21-22 ธันวาคมนี้ กสทช.จะประชุมเพื่อรับรองผลประมูล หากไม่มีปัญหาหรือการร้องเรียนจะสามารถมอบใบอนุญาตให้ทั้ง 2 บริษัท ได้ภายใน 90 วัน และคาดว่าประชาชนจะได้ใช้สัญญาณ 4จี จากคลื่นความถี่ทั้ง 2 คลื่นนี้ในปีหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง