สมัชชาสุขภาพฯขับเคลื่อน 5 วาระเร่งด่วน ปัญหาหมอกควัน-ลดเกลือ-สุขภาวะชาวนา

สังคม
23 ธ.ค. 58
15:08
165
Logo Thai PBS
สมัชชาสุขภาพฯขับเคลื่อน 5 วาระเร่งด่วน ปัญหาหมอกควัน-ลดเกลือ-สุขภาวะชาวนา
นอกจากนโยบายของรัฐบาลแล้ว นโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนของสังคม จากการเสนอปัญหา วางแผนการจัดการและเสนอแนะทางแก้ปัญหา ก่อนกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะที่ต้องขับเคลื่อน ก็ถือกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุข

วันนี้ (23 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ที่อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ได้กำหนด 5 วาระสุขภาพเร่งด่วน ที่หวังผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ

5 วาระสุขภาพ ที่ถูกกำหนดเป็นกรอบการหารือและจะมีการรับรองมติในวันนี้ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป็นประเด็นสำคัญที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเห็นว่า กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย เช่น ปัญหาหมอกควัน การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม และสุขภาวะชาวนา

แม้ว่าปัญหาหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จะผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เมื่อปี 2555 มาแล้ว แต่เนื่องจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นตรงกันว่า ยังมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนที่ยังไม่ครบถ้วนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงนำกลับมาหารืออีกครั้งเพื่อร่วมกันวางกรอบการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ยังมีอีก 4 วาระสุขภาพ ที่กำหนดกรอบการหารือและจะมีการรับรองมติในการประชุมครั้งนี้ด้วย อย่าง วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา และการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ สุขภาวะชาวนา การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา ระบบสุขภาพเขตเมือง การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ

การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ยังนำมติในที่ประชุมทั้ง 7 ครั้งที่ผ่านมา รวม 64 มติ เข้าสู่ที่ประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาด้วย
นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หลายนโยบายถูกผลักดันและขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในระดับชาติ กระทรวง กรม จังหวัด ชุมชนและท้องถิ่นแล้ว แต่เห็นว่านโยบายบางเรื่องของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ยังสวนทางหรือไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกับนโยบายด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตามคาดหวังว่ารัฐบาลจะนำวาระเร่งด่วนด้านสุขภาพ ไปขับเคลื่อนร่วมกันนโยบายของรัฐบาล แม้บางเรื่องอาจจะยังไม่เป็นนโยบายระดับชาติ สามารถที่จะนำไปดำเนินการต่อในระดับหน่วยงาน เช่น กระทรวง กรม จังหวัด ซึ่งเครือข่ายภาคประชวยสังคมก็จะร่วมขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน

ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม ยังได้สะท้อนว่าการผลักดันนโยบายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังไม่ตอบโจทย์กับชุมชนในพื้นที่มากนัก อยากให้คำนึงถึงบริบท วิถีชีวิตของประชาชน ที่ต้องไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

จากข้อเสนอมติที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ จะถูกนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายสาธารณะในการแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ที่ถูกสะท้อนผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่ร่วมให้ข้อคิดเห็นจากระดับปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนางานด้านสุขภาพ ให้สมบูรณ์ครบถ้วนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการแถลงผลการดำเนินนโยบายของรัฐบาลแล้ว การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญของการกำหนดนโยบายสาธารณะ ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในการประชุมหารือของภาคส่วนต่างๆ ในวาระสุขภาพที่กำหนดเป็นหัวข้อสำคัญ ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไปปัญหา ประกอบด้วยวิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา และการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ สุขภาวะชาวนา การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา ระบบสุขภาพเขตเมือง การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ

รวมถึงปัญหาหมอกควัน ที่แม้จะผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เมื่อปี 2555 มาแล้ว และรัฐบาลได้มีมติในการจัดการปัญหาหมอกควันแล้ว แต่เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาสังคม เห็นว่า การขับเคลื่อนในทางปฏิบัติ ยังมีช่องว่างของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่นเดียวกับในหลายประเด็นที่ขาดความต่อเนื่องของการทำงานระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคม

นางกาญจนา ทองทั่ว คณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฎิรูปแห่งชาติ เห็นว่า กระบวนการของสมัชชา คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะในระดับล่างที่ทุกภาคส่วนสามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้โดยไม่ต้องพึ่งนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละพื้นที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง