ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องคดีกฟผ.ซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีผิดกม.

สิ่งแวดล้อม
25 ธ.ค. 58
10:52
317
Logo Thai PBS
ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องคดีกฟผ.ซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีผิดกม.
ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องคดีเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ฟ้อง กฟผ.กรณีลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เครือข่ายฯเตรียมยื่นอุทธรณ์ ภายใน 30 วัน

วันนี้ (25 ธ.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลาง ตัวแทนชาวบ้านจาก 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดา หาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนชาวบ้าน พร้อม กลุ่มทนายความ กลุ่มอนุรักษ์ เข้ารับฟังคำพิพากษาปกครอง ซึ่งชาวบ้าน 37 คนยื่นฟ้องไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2555 จากข้อกังวลเรื่องกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และขอให้เพิกถอนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองชั้นต้นได้ยกคำฟ้องโดยผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้รับฟ้อง จนเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ศาลปกครองได้พิจารณาคดี โดยตุลาการศาลให้ความเห็นว่า ควรให้ยกคำฟ้องเนื่องจากมองว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่โครงการของรัฐไทย เป็นการดำเนินการโดย สปป.ลาว ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นประชาชนครบถ้วนแล้ว ตามกฎหมายของ สปป.ลาว ไม่ใช่สิ่งที่ศาลจะก้าวล่วงได้

นอกจากนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีได้ดำเนินการตามหลักกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน ทั้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงกับประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขง (PNPCA) ซึ่งมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในประเทศเวียดนามและกัมพูชา รวมถึงไทยครบถ้วนแล้วและไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายระหว่างพรมแดน ทำให้ไม่มีข้อกำหนดหรือกฏหมายที่จะดำเนินการตามคำฟ้องของผู้ฟ้อง ทั้ง 37 คนได้

 

นางสาว ส. รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า การพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้ แม้จะคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะต้องเป็นตามที่ตุลาการได้ให้ความเห็นไปแล้ว แต่กระบวนการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ศาลไม่ได้อ่านเหตุผลของการยกคำฟ้อง โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีในการอ่านคำพิพากษา ซึ่งผิดจากกระบวนการและขั้นตอนของศาล ที่ต้องอ่านเหตุผลของคำตัดสิน ซึ่งได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงในฐานะผู้ฟ้องคนที่ 1 กล่าวว่า กลไกที่มีอยู่อย่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) นอกจากไม่สามารถนำมาปกป้องแม่น้ำโขงได้ยังเป็นกลไกที่เป็นใบเบิกทางให้กับการสร้างเขื่อน ทั้งกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ( PNPCA) ซึ่งเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมที่ทำให้เขื่อนสร้างได้แม้ว่าจะมีภาคประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งหากเขื่อนไซยะบุรีสร้างได้สำเร็จก็จะเป็นบรรทัดฐานในการสร้างเขื่อนอื่น ๆ ในแม่น้ำโขงตอนล่าง สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องต้องการให้มีกฎหมายที่จะเป็นกลไกในการปกป้องผลกระทบข้ามพรมแดนที่ไม่เฉพาะผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงเท่านั้นแต่ยังกระทบความมั่นคงทางอาหารที่ส่งผลต่อคนในภาพร่วมของประเทศด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง