“Cover Girl” แฟชั่นไทย-มุสลิมเชื่อมสัมพันธ์ศาสนา คว้ารางวัลระดับโลก

สังคม
25 ธ.ค. 58
11:38
1,621
Logo Thai PBS
“Cover Girl” แฟชั่นไทย-มุสลิมเชื่อมสัมพันธ์ศาสนา คว้ารางวัลระดับโลก
จับเอาความชอบด้านแฟชั่นและคำชมถึงสไตล์การแต่งตัวคลุมฮิญาบแบบมิกซ์แอนด์แมทช์ที่ทันสมัย ผนึกเข้ากับหลักศาสนา เสริมด้วยแนวคิดการตลาดที่ได้ร่ำเรียนมา จน ปิยะธิดา ศาสนูปถัมภ์ หรือ อลาเวียร์ กลายเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับสาวมุสลิม Cove Girl

จับเอาความชอบด้านแฟชั่นและคำชมของเพื่อนต่างชาติ ถึงสไตล์การแต่งตัวคลุมฮิญาบแบบมิกซ์แอนด์แมทช์ที่ทันสมัยผนึกเข้ากับหลักศาสนา เสริมด้วยแนวคิดการตลาดที่ได้ร่ำเรียนมา จน “ปิยะธิดา ศาสนูปถัมภ์” หรือ “อลาเวียร์” กลายเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับสาวมุสลิม “Cover Girl” ที่ฮิตในหมู่วัยรุ่นเลยไปถึงวัยผู้ใหญ่ในประเทศไทยรวมถึงต่างประเทศมานานกว่า 4 ปี

มาถึงวันนี้ ปิยะธิดาเขยิบสู่ความสำเร็จอีกขั้นด้วยการเป็นชาวไทยมุสลิมคนแรกที่ได้รับรางวัล “Icon Ukhuwah International Award” ใน งานแสดงเสื้อผ้ามุสลิมนานาชาติปี 2 หรือ “Kuala Lumpur international hijab fair 2015” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค.2558 โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้มีเพียง 8 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์

ปิยะธิดา ศาสนูปถัมภ์ หรืออลาเวียร์ เจ้าของแบรนด์ “Cover Girl”

ความน่าสนใจของรางวัลดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่ความโดดเด่นด้านดีไซน์เท่านั้น หากแต่มอบให้กับผู้ที่ใช้ “ศาสตร์แห่งแฟชั่น” ช่วยเผยแผ่ “ศาสนาอิสลาม” ในทางที่ถูกที่ควร

“เราอาศัยแฟชั่นเป็นตัวเชื่อมบอกเล่าเรื่องราวของศาสนาอย่างถูกต้องให้ทั้งคนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้ว และคนทั่วไปที่สนใจอยากรู้จักศึกษาแต่ไม่กล้า นั่นคือความตั้งใจสูงสุด เพราะภาพลักษณ์การแต่งกายที่ผ่านมา ด้วยสีสันที่มืดทึมและการคลุมตัวแบบมิดชิด บางส่วนอาจทำให้คนกลัว” ปิยะธิดา เผยความตั้งใจในเส้นทางที่เลือกเดิน

เธอบอกว่า หลักการแต่งกายของหญิงมุสลิมไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสีสัน หรือเน้นว่าห้ามแต่งตัวตามเทรนด์หรือล้ำเทรนด์ ขอเพียงไม่รัด ไม่บาง ไม่สั้น และต้องปกปิดให้เหลือแค่ใบหน้าและฝ่ามือ เพียงเท่านี้ก็คือว่าแต่งกายถูกต้องตามหลักที่พระผู้เป็นเจ้าบัญญัติไว้

“หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการแต่งตัวของหญิงมุสลิมว่าทำไมต้องปกปิดขนาดนั้น เหตุผลหนึ่งก็คือ การแต่งตัวแบบนี้ช่วยลดอันตรายให้ผู้หญิงมุลสิม เพราะเป็นการแต่งกายที่ไม่ล่อแหลม ไม่มีการเผยสรีระและรู้สึกได้เลยว่าคนที่เข้ามาพูดคุยด้วยจะให้เกียรติเรามากขึ้น” เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อผู้หญิงมุสลิม ระบุ


เมื่อเอาแฟชั่นเป็นตัวนำศาสนา ผลตอบรับที่ได้มากกว่าคำว่า “คุ้มค่า” เพราะวัยรุ่นไทย-มุสลิมจำนวนไม่น้อย หันมาสนใจแต่งตัวให้ถูกต้องมากขึ้น บางคนจากไม่เคยคลุมฮิญาบก็หันมาใส่จนกลายเป็นเครื่องแต่งกายประจำวัน เลยไปถึงคนที่กลัวศาสนาอิสลาม ก็เปิดใจและมองว่าอิสลามก็เป็นศาสนาหนึ่งที่เดินทางสายกลางและสอนให้คนเป็นคนดี

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักการดีไซน์ของ Cover Girl ไม่ซับซ้อน คิดเพียงแค่ให้สามารถแต่งได้จริงในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงเน้นหยิบจับแฟชั่นที่อินเทรนด์มาปรับประยุกต์ให้ยาวขึ้นในแบบมิกซ์แอนด์แมทช์ ตามสไตล์เจ้าของแบรนด์

“ตอนนี้กระแสผ้าไหมกับลูกไม้กำลังมา ดีไซน์ของเราจึงเน้นไปทางนี้ซึ่งได้รับการตอบรับดี ส่วนซีซันหน้าคาดว่าเทรนด์กระโปรงพลีท แมกซีเดรส และเสื้อคาร์ดิแกน จะเข้ามาช่วยให้สาวๆ แต่งตัวได้สนุกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าเทรนด์เสื้อผ้าหญิงมุสลิมไม่ได้ขึ้นตรงกับแฟชั่นฮอลลีวู้ด เกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่จะเปลี่ยนไปตามเน็ตไอดอลหรือเน็ตไอคอนมุสลิม บนโซเชียลจากทั่วโลก” เธอ อธิบาย


นอกจากนี้ ปิยะธิดา ยังอาศัยความสดใสของแฟชั่นเสื้อผ้าผู้หญิงมุสลิม จัดงานจำหน่ายหรือเดินแฟชั่นโชว์เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือสังคมหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปช่วยผู้ประสบภัยสงครามในปาเลสไตน์และฉนวนกาซา หรือแม้แต่เด็กกำพร้าในประเทศไทย


“เราแค่อยากให้คนไทยและรัฐบาลไทยรู้ว่า ผู้หญิงไทย-มุสลิมมีความสามารถ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แม่บ้านอยู่กับบ้านคอยเลี้ยงลูก แต่เราต้องการได้รับการผลักดันจากภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นได้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาบทบาทและเพิ่มศักยภาพสตรีไทย-มุสลิม ที่ต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า รวมถึงการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและชื่อเสียงที่ประเทศไทยจะได้รับกลับคืนด้วยเช่นกัน” เธอกล่าว ก่อนเดินทางไปรับรางวัลอันทรงเกียรติต่อทั้งตัวเองและประเทศไทย ในวันนี้ (31 พ.ค.) เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของมาเลเซีย

 

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง