วิถีการเดินทางของชาวเมียนมาในนครย่างกุ้ง

ต่างประเทศ
3 ม.ค. 59
20:15
502
Logo Thai PBS
วิถีการเดินทางของชาวเมียนมาในนครย่างกุ้ง
นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ช่วง 2-3 ปีนี้พบปัญหาสภาพการจราจรแออัดมากขึ้น หลายคนต้องเผื่อเวลาในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่รัฐบาลเมียนมาพยายามขยายระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเพิ่มขบวนรถไฟ

ในชั่วโมงเร่งด่วน รถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ ยังเป็นทางเลือกหลักของชาวย่างกุ้งที่ต้องใช้สัญจร เพราะนอกจากจะเข้าถึงถนนหลายสายแล้ว ยังมีราคาถูก ตั้งแต่ราคา 2,000 จ๊าด หรือประมาณ 6 บาทขึ้นไป

ท่ารถในจุดศูนย์กลางของกรุงย่างกุ้งจะเห็นผู้คนหลากหลายวัย ทั้งคนทำงานและนักเรียนนักศึกษามารอรถโดยสารที่นี่เพื่อต่อไปยังทางย่อยอีกทอด บรรยากาศช่วงเช้าและช่วงเย็นเป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ที่นี่ยังสะดวกเป็นจุดนัดพบของประชาชน หลังจากที่ต้องเผื่อเวลาการเดินทางอีกเท่าตัว

 

มู ลา ทุน ผู้ใช้บริการรถโดยสารธารณะ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีหลังรถที่ย่างกุ้งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ถนนสายต่างๆกำลังมีการก่อสร้าง ทำให้การจราจรติดขัดหลายเท่าตัว ต้องเผื่อเวลามากกว่า 2 ชั่วโมง หรือบางครั้งก็ใช้เวลาครึ่งวัน โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกตัวเมือง

กฎการจราจรของเมียนมายังดูแตกต่างจากที่อื่น เพราะนอกจากรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีพวงมาลัยขวาแล้ว ก็ยังขับเลนขวาด้วย หากผู้ที่เดินทางไปเมียนมาได้นั่งรถอาจจะเกิดความสับสนในช่วงแรก กฎการจราจรของเมียนมายังห้ามรถยนต์ทุกคันติดฟิล์มดำและห้ามใช้รถจักรยานยนต์ในเมืองย่างกุ้งเพื่อป้องกันอาชญากรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเหตุลอบทำร้ายบุคคลสำคัญ ขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่จะไม่ทำประกันชีวิต เพราะมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นคู่กรณีก็ต้องต่อรองเจรจาค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจของแต่ละฝ่าย

พนักงานขับรถเมล์คนหนึ่งกล่าวว่า แม้จะขับรถมาตลอดทั้งวัน ส่วนตัวยังไม่ค่อยเห็นอุบัติเหตุตามท้องถนนบ่อยนัก ขณะที่ชาวเมียนมาบางคนบอกว่ายังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งเพราะที่นี่ขับรถเร็ว หรือไม่ชะลอความเร็วเมื่อเห็นรถคันหน้าเปลี่ยนเส้นทาง

หลังจากเมียนมาใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้การคมนาคมในเมืองย่างกุ้งเติบโตด้วยเช่นกัน หลายคนเดินทางกลับจากทำงานต่างประเทศ เริ่มมีกำลังซื้อรถยนต์มือสองจากจีน ญี่ปุ่น ด้วยเงินสดราคาประมาณ 300,000 บาท ทั้งนำมาประกอบการเป็นรถแท็กซี่และใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัว ยิ่งทำให้การจราจรบางช่วงวิกฤต โดยเฉพาะย่านใจกลางเมือง

ปลายปี 2558 รัฐบาลเมียนมามีนโยบายพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะด้วยการร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น นำเข้าขบวนรถไฟปรับอากาศเดินทางรอบตัวเมืองย่างกุ้ง เพื่อหวังเป็นอีกทางเลือกให้ประชาชนและลดปัญหาการจราจรติดขัด แต่ยังเข้าถึงได้เฉพาะบางกลุ่มเพราะมีราคาค่าโดยสาร 16 บาทขึ้นไป หรือแพงจากค่ารถเมล์ 3 เท่าตัว จึงเห็นประชาชนบางส่วนยังใช้รถไฟแบบธรรมดา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

 

หากเราไปที่สถานีรถไฟในช่วงเช้าและเย็นจะเห็นวิถีการเดินทางของชาวย่างกุ้ง อย่างคนทำงานจะหิ้วปิ่นโตหรือกล่องข้าวจากบ้านไปเป็นอาหารกลางวันที่ทำงานด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งปิ่นโตที่หิ้วยังบอกฐานะชาวเมียนมาด้วย เพราะหากใครหิ้วปิ่นโตที่ผลิตจากประเทศไทยนั่นหมายถึงมีฐานะดี

ระบบการคมนาคมขนส่งในเมียนมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์มากนัก เมื่อเทียบกับการเติบโตทางการลงทุนแบบก้าวกระโดด ปัญหานี้จึงเป็นอีกโจทย์ท้าทายเมียนมาที่พร้อมจะพัฒนาไปควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง