หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อน จ.นครราชสีมา

ภูมิภาค
25 เม.ย. 58
08:49
786
Logo Thai PBS
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อน จ.นครราชสีมา

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนประชาชนทุกภาคของประเทศไทยระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนในช่วง 1 - 2 วันนี้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นครราชสีมา เร่งสำรวจ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุฤดูร้อน เมื่อวานนี้ (24เม.ย.2558) ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในหลายจังหวัดยังรุนแรง หลังระดับน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด

สภาพความเสียหายของบ้านเรือนกว่า 40 หลังใน อ.เมือง และ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หลังพายุฤดูร้อนพัดถล่มเมื่อวานนี้ กระแสลมแรงพัดหลังคาบ้านเรือนเสียหาย เบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย
 
เช่นเดียวกับที่ จ.กระบี่ องค์การบริหารส่วนตำบลพรุเตียว อ.เขาพนม สำรวจความเสียหายจากพายุฤดูร้อน พบต้นยางพาราหักโค่นกว่า 50 ไร่ บ้านเรือนเสียหาย 35 หลัง เบื้องต้น จัดงบประมาณช่วยเหลือ โดยพื้นที่การเกษตรที่เสียหายโดยสิ้นเชิง จะได้รับค่าชดเชยไร่ละ 1,600 บาท
 
วันนี้ (25เม.ย.2558) กรมอุตุนิยมวิทยายังคงประกาศเตือนประชาชนในทุกภาคของประเทศไทย ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน ซึ่งมีลักษณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล วันนี้มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีการกระจายตัวของฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ซึ่งมีโอกาสตกตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ จึงเตือนให้ประชาชนอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง
 
ส่วนในวันพรุ่งนี้ ถึงวันจันทร์ที่ 27 เมษายน ประเทศไทยจะมีฝนน้อยลง และมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ดังนั้น จึงควรดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากอากาศเปลี่ยนแปลงด้วย
 
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในหลายจังหวัดภาคเหนือยังคงขยายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย ทหารหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 35 นำเครื่องจักรขนาดใหญ่ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยต้นยาง บริเวณบ้านเด่นสันทราย ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง เพื่อกักเก็บน้ำช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหาขาดน้ำอุปโภค-บริโภค
 
ขณะที่ชลประทาน จ.พิจิตร ยุบเขื่อนยาง บริเวณท้ายเขื่อนยางพญาวัง อ.โพทะเล หลังระดับน้ำในแม่น้ำยม แห้งขอด จนไม่มีน้ำกักเก็บ ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง และขยายวงกว้าง ด้านชาวนาใน จ.นครสวรรค์ เริ่มปรับพื้นที่เตรียมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อรอฝน แม้เสี่ยงกับภาวะขาดทุน แต่หลายคนบอกว่าจำใจต้องทำ เนื่องจากไม่มีอาชีพอื่นรองรับ
 
ขณะที่ผู้ปลูกมันสำปะหลังใน จ.กำแพงเพชร หันมาใช้ระบบน้ำหยด หลังแหล่งน้ำในธรรมชาติแห้งขอด ซึ่งการทำเกษตรลักษณะนี้ นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิมไร่ละ 4,000 กิโลกรัม เป็นไร่ละ 7,000 กิโลกรัม ส่วนสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผู้ประกอบการใน จ.น่าน ติดตั้งสปริงเกอร์บนหลังคา เพื่อคลายร้อนให้กับลูกค้า
 
เช่นเดียวกับที่ จ.อุบลราชธานี และอุดรธานี อุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนนำครอบครัวเล่นน้ำคลายร้อนตามแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลดีกับชุมชน และผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง