ภาคประชาชนชี้ คำสั่งคสช.ปลดบอร์ด สสส.7 คน "ไม่ชอบธรรม"

การเมือง
7 ม.ค. 59
19:55
177
Logo Thai PBS
ภาคประชาชนชี้ คำสั่งคสช.ปลดบอร์ด สสส.7 คน "ไม่ชอบธรรม"
วันนี้ (7 ม.ค.2559) เครือข่ายภาคประชาชนออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการปลดกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 คน ระบุว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม ประกาศเตรียมเคลื่อนไหวหากมีการแต่งตั้งตัวแทนกลุ่มทุนเข้ามาเป็นกรรมการแทน

ภาคประชาชนนัดประชุม 11 ม.ค.จับตาการแต่งตั้งบอร์ด สสส.

เครือข่ายภาคประชาชนในนาม "ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน" ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 1/2559 โดยเห็นว่าเป็นคำสั่ง ไม่ชอบธรรม และนำไปสู่การแต่งตั้งบุคคลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ พร้อมกับระบุว่า หากการประกาศแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่พบว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุนจะประชุมหาแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปอีกครั้งวันที่ 11 ม.ค.2559

แถลงการณ์ระบุว่าผลการตรวจสอบของหลายหน่วยงานไม่พบการทุจริตในการดำเนินงานของ สสส.และคณะกรรมการ 7 คนจึงเชื่อว่าคำสั่งนี้ จะนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการฯรวมถึงผู้จัดการ สสส.คนใหม่ ซึ่งมาจากกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ และตัวแทนจากกลุ่มทุนบางกลุ่ม เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกองทุน สสส. ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจึงขอคัดค้าน และหากการประกาศแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่พบว่า เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือ กลุ่มทุน วันที่ 11 ม.ค.2559 จะประชุมหาแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป

ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งดังกล่าว แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม 1 ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน คือ นายสุเมธ และนายอร่าม ศิริพันธุ์ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่ม 2 ข้าราชการพลเรือน 2 คน
กลุ่ม 3 ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 44 คน ในจำนวนนี้อยู่ในจ.มหาสารคาม 32 คน
กลุ่ม 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน
กลุ่ม 5 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 7 คน ได้แก่ โดยชื่อที่ได้รับการจับตามากที่สุดคือ ชื่อของกรรมการกองทุน สสส. ทั้ง 7 คน ได้แก่
1. นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน
2. นายสงกรานต์ ภาคโชคดี
3. นายเอ็นนู ชื่อสุวรรณ
4. นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
5. นายสมพร ใช้บางยาง
6. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม
7. นายวิเชียร พงศธร

ประธาน ศอตช.ยืนยันไม่มีแรงกดดันจากภาคธุรกิจ

ทางด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ย้ำว่าจะให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่ถูกคำสั่ง คสช.ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริต พร้อมกับปฏิเสธว่าการปลดกรรมการกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 คนมีแรงกดดันมาจากภาคธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ นพ.วิชัย โชควิวัฒน 1 ใน 7 กรรมการ สสส.ที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 1/2559 พร้อมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรตั้งข้อสังเกตว่า การปลดกรรมการ สสส.7 คนครั้งนี้ มาจากกระบวนการล้มล้าง สสส.โดยมีบริษัทเหล้า บุหรี่ อยู่เบื้องหลัง อันมีสาเหตุมาจากการร่าง พ.ร.บ.เหล้า และบุหรี่ ที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของธุรกิจในกลุ่มนี้

แต่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช.ยืนยันวันนี้ (7 ม.ค.) ว่า การเสนอรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 59 คน ซึ่งรวมถึงกรรมการ สสส.ทั้ง 7 คน ให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับล่าสุดนั้น เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้มีกลุ่มธุรกิจใดๆ อยู่เบื้องหลัง เพราะหากภาคเอกชนเข้ามากดดันการทำหน้าที่ของ ศอตช.ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมี ศอตช.อีกต่อไป

ประธานศอตช.ย้ำด้วยว่า พร้อมให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ หากตรวจสอบแล้วไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตใดๆ สามารถกลับเข้ามาทำหน้าที่ได้ตามปกติ

สำหรับขั้นตอนการทำงานของ ศอตช.ก่อนเสนอรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.นั้น พล.อ.ไพบูลย์อธิบายว่า เริ่มขึ้นจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ศอตช.ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งกรณีของ สสส.เป็นการตรวจสอบข้อมูลโดย คตร.ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการสั่งระงับการเบิกจ่ายเงินในโครงการของสสส.ที่ใช้เงินเกิน 5 ล้านบาทไปแล้ว

ม.วลัยลักษณ์เลือกรักษาการอธิการบดีแทน "สุเมธ"

ขณะที่วันเดียวกันนี้ (7 ม.ค.) สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมสภามหาวิทยาลัยเร่งด่วนวาระพิเศษภายหลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 1/2559 ลงวันที่ 5 ม.ค.2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 3 จำนวน 59 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนายสุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และมีคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนางวัลลา ตันตโยทัย ที่มีความอาวุโสสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อจากนายสุเมธ พร้อมแต่งตั้งคณะบริหารมหาวิทยาลัยชุดใหม่ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง