ภาค ปชช.ชี้คำสั่ง คตร.แช่ฟรีซ สสส.กระทบคนทำงานนับหมื่น- รอฟังผลประชุมบอร์ด สสส.15 ม.ค. ก่อนเคลื่อนไหวทั่วประเทศ

สังคม
11 ม.ค. 59
19:30
100
Logo Thai PBS
ภาค ปชช.ชี้คำสั่ง คตร.แช่ฟรีซ สสส.กระทบคนทำงานนับหมื่น- รอฟังผลประชุมบอร์ด สสส.15 ม.ค. ก่อนเคลื่อนไหวทั่วประเทศ
ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ร้อง คสช.ยกเลิกสั่งปลด 7 บอร์ด สสส. หลังไม่พบทุจริต ขณะการแช่ฟรีซงบ สสส.เกือบ 2 พันล้านบาท ส่งผลกระทบคนทำงาน 10,000 คน ระบุเตรียมเคลื่อนไหวทั่วประเทศ หากผลจากที่ประชุมบอร์ด 15 ม.ค. 59 ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้อง

จากกรณี คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสั่งระงับโครงการที่มีวงเงินเกิน 5 ล้านบาท ในเดือน ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบการใช้จ่ายงบประมาณส่วนหนึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ที่ปฏิบัติงานแทน สสส. เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการโครงการต่อได้ ขณะที่บางมูลนิธิต้องปรับตัวด้วยการเลิกจ้างพนักงานเพราะไม่มีงบใช้จ่าย

วันนี้ (11 ม.ค. 2559) เวลา 11.00 น. นายธีระ วัชรปรานี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และนางจิตติมา ภาณุเตช เครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน อ่านแถลงการณ์ ภายหลังประชุมร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายวิชาการ และเครือข่ายองค์กรประชาชน 20 เครือข่าย เกือบ 200 คน นาน 3 ชั่วโมง โดยมีข้อเรียกร้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.ให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ทั้ง 7 คน พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เนื่องจากเป็นการปลดโดยไม่ชอบธรรม เนื่องจากไม่พบการทุจริต และหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบของ คตร.แล้ว ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กลับมาปฏิบัติงานได้เหมือนเดิม หากกรรมการฯ คนใดไม่ประสงค์ดำรงตำแหน่งต่อ จะต้องสรรหามาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือมีทัศนคติในทางที่ปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ดี การเรียกร้องในข้อนี้ ทาง ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ไม่ได้ปกป้องหรืออุ้มคณะกรรมการ สสส. ทั้ง 7 คน แต่เป็นการปกป้องสังคมที่ทางเครือข่ายเข้าไปดำเนินงาน

2.ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกันในโครงการที่ภาคีเครือข่ายดำเนินงานกับ สสส. หากโครงการยังถูกแช่แข็งและไม่จ่ายเงินตามที่ได้ลงนามไว้ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะดำเนินการยื่นฟ้อง สสส.ต่อศาลปกครอง

3.ให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสรรพากร และสรรพากรจังหวัดยุติการคุมคามองค์กรต่างๆ และให้คณะกรรมการ สสส. ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ "ข้อตกลงการปฏิบัติงาน" ระหว่างภาคี และ สสส. ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ว่าจำเป็นต้องจ่ายภาษีหรือไม่ นอกจากนี้ เตรียมฟ้องร้องเพื่อยกเลิกประกาศกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

4.ขอให้รัฐบาลเพิ่มการสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ สนับสนุนให้มีการออกระเบียบใหม่ที่ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการ ต้องกระจายระบบสนับสนุนให้มีการตัดสินใจในระดับภูมิภาคและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงต้องประเมินการทำงานของผู้บริหารและองค์กร สสส.

และ 5.ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนจะตรวจสอบและติดตามการดำเนินการโครงการประชารัฐใน เรื่องการใช้งบประมาณและประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งจะติดตามผลการประชุมบอร์ด สสส.ในวันที่ 15 ม.ค. 2559 เกี่ยวกับการจัดตั้งผู้จัดการ สสส.คนใหม่ การสรรหาคณะกรรมการและความคืบหน้าการแช่แข็งโครงการ
ทั้งนี้ หากผลการประชุมบอร์ด สสส. ในวันที่ 15 ม.ค.2559 ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ทางเครือข่ายทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวในระดับจังหวัดเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อไป

“ในส่วนการระงับการจ่ายเงินให้แก่โครงการที่ได้ลงนามในความตกลงร่วมมือปฏิบัติงานร่วมกับ สสส. ปัจจุบันมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,953 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการที่มีงบประมาณเกิน 5 ล้านบาท จำนวน 515 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,643 ล้านบาท โดยมีผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 5,200 คน ในจำนวนนี้มีมากกว่า 3,400 คน ที่ขาดงบดำเนินการและค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนานเกิน 3 เดือน แต่หากนับรวมผู้ปฏิบัติงานในโครงการย่อย และอาสาสมัครไม่เต็มเวลา คาดว่าขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 10,000 คน” นายธีระกล่าว

นายธีระ แจงในส่วนของของการเสียภาษีว่า สำนักงานอัยการสูงสุดตีความและวินิจฉัยโครงการ ที่องค์กรภาคประชาสังคมที่ลงนามในความตกลงกับ สสส. เมื่อปี 2547 ว่า เป็นการดำเนินการแทน สสส. ซึ่งไม่ใช่ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างทำของแก่กัน จึงถือว่าเป็นผลงานของ สสส. ที่ไม่ควรเสียภาษี นอกจากนี้ ส่วนที่เป็นค่าตอบแทนบุคลากรมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จาก สสส. ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานในมูลนิธิและองค์กรต่าง ๆ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฐานเงินเดือน

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือกรมสรรพากรตีความว่าโครงการที่มูลนิธิและองค์กรต่าง ๆ ทำร่วมกับ สสส.เป็นสัญญาจ้างทำของ ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 และติดตราเอกสารอากรในอัตรา 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท พร้อมเบี้ยปรับ 5-6 เท่า ของงบประมาณดำเนินการ และเกิดการไล่เรียกเก็บภาษีจากองค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ ย้อนหลังนาน 5 ปี ซึ่งหากเรียกเก็บจริงต้องใช้เงินประมาณ 800 ล้านบาทสำหรับภาษีอากรและค่าปรับ ซึ่งไม่มีองค์กรใดมีความสามารถพอจะจ่ายได้” ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ระบุเพิ่ม

ด้าน นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน และกรรมการมูลนิธิเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า หลังจาก คตร.แช่แข็ง สสส.มานาน 3 เดือน ทางมูลนิธิและโครงการได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยจำเป็นต้องปลดพนักงานประจำที่มีอยู่ 10 คน และลูกจ้างโครงการที่มีอยู่ 4 คน ให้เหลือเพียง 5 คน โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำให้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณมาหมุนเวียนดำเนินโครงการและจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงาน และยังต้องนำเงินของมูลนิธิที่มีอยู่ 1.5 ล้านบาทมาสำรองจ่ายไปก่อน ระหว่างรอเงินค้างจ่ายจาก สสส.เพื่อดำเนินโครงการในระยะที่ 2 จำนวน 7 ล้านบาท

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนในการดำเนินงานต่อจากนี้ของมูลนิธิ เราจึงปรับตัวและตั้งใจว่าจะทำงานต่อจากนี้โดยมีพนักงานที่มีคุณภาพแค่ 5 คน จนกว่าจะแน่ใจว่าระบบงบประมาณเพื่อภาคประชาชนที่ทำงานเพื่อสังคมจะชัดเจนมากกว่านี้” นายธนากร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง