ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง-แจกข้าว 4 ล้านถุง

การเมือง
12 ม.ค. 59
20:23
272
Logo Thai PBS
ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง-แจกข้าว 4 ล้านถุง
คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา บรรเทาความเดือนร้อนหลังราคาตกต่ำ ด้วยการแจกข้าวบรรจุถุง 4,014,315 ถุง จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาต่ำกว่าท้องตลาด จัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรเบื้องต้น

วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ดังนี้

1.โครงการข้าวสารบรรจุถุงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ ตกลงกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย จัดทำข้าวสารเจ้า 5% ขนาดบรรจุถุง 5 กิโลกรัม แจกจ่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ 68 จังหวัด จำนวน 802,863 ครัวเรือน 4,014,315 ถุง และมอบหมายกระทรวงมหาดไทย บริหารจัดการและจัดสรรข้าวสารบรรจุถุงที่ส่งมอบ เพื่อให้ถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยมีระยะเวลาดำเนินงานระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2559

2.โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางพาราปี 2559 เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ราคาต่ำกว่าราคาตลาดประมาณร้อยละ 20-40 ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และให้กระทรวงมหาดไทย กำหนดจุดจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินการภายใน 3 เดือน ระหว่างมกราคม-มีนาคม 2559

3.แผนส่งเสริมการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อขยายตลาดส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2558 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ ร่วมงานแสดงสินค้า จัดคณะผู้แทนการค้าเยือนประเทศคู่ค้า 6 โครงการ มีมูลค่าการขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ 1,009.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 36,342.72 ล้านบาท แบ่งเป็นยางพาราธรรมชาติ 585,450 ตัน มูลค่า 969.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์ยาง 40.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2559 มีแผนส่งเสริมการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 61 แห่ง เร่งจัดคณะผู้ซื้อจากต่างประเทศมาประเทศไทย เริ่มจากผู้นำเข้ายางพาราจากกัมพูชามาเจรจาการค้า ณ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค.2559 กำหนดจะนำผู้ประกอบการไทย 96 บริษัท เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ 4 ครั้ง ในไต้หวัน อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยอรมนี และนำคณะผู้แทนการค้าไทย 100 บริษัทไปเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ ณ ประเทศ อิหร่าน เม็กซิโก ปานามา โคลัมเบีย แอฟริกาใต้ เคนยา และแทนซาเนีย

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราเป็นกรณีเร่งด่วน ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนฯ เสนอ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ผู้ได้รับประโยชน์จะต้องเป็นเกษตรกรยางพาราที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพร่วมกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ตรวจสอบคัดกรองเกษตรกรยางพาราที่จะให้ความช่วยเหลือให้ชัดเจน

2.กำหนดกรอบวงเงินในการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับยางแต่ละประเภท เช่น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแท่ง อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดต้นทุนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 64.21 บาท

3.คณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาราคายางพาราเพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือเกษตรกรยางพารา เป็นกรณีเร่งด่วน จะดำเนินการในลักษณะเป็นหน่วยบริหารจัดการกลางในการประสานไปยังส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐที่มีงาน โครงการต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งจะต้องนำยางไปเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนผสม เช่น การสร้างถนน สนามกีฬา ถนนสำหรับรถจักรยาน 2 ล้อ การปูพื้นกันซึม ถุงมือยาง หุ่นหรืออวัยวะประกอบการเรียนการสอนทางการแพทย์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยาง รวมทั้งจะรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่ายางพาราที่ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ไว้เรียบร้อยให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติหรือใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ อาจต้องมีการส่งเสริมการผลิตในงานหรืออุตสาหกรรมบางประเภทที่จะเข้ามารับงานจากส่วนราชการ เพิ่มเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ที่มีนวัตกรรมเหมาะสมในการเพิ่มผมผลิตงานราชการรองรับปริมาณยางพาราในประเทศ

4.จากราคายางพาราสูงสุดที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ต้นทุนราคากิโลกรัมละ 64.21 บาท เมื่อพิจารณาประกอบกับราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นฐานในการคำนวณค่าครองชีพของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความเคลื่อนไหวขึ้น-ลง อยู่ตลอดเวลาแล้ว เห็นว่าราคาที่เหมาะสมในการรับซื้อครั้งนี้ไม่ควรเกินกิโลกรัมละ 60 บาท หรือตันละ 60,000 บาท สำหรับในช่วงฤดูก่อนการปิดกรีด สามารถประมาณการผลผลิตยางในตลาดได้ประมาณ 600,000-800,000 ตัน ในเบื้องต้นเห็นสมควรรับซื้อในปริมาณ 200,000 ตัน ใช้วงเงินรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมเป็นเงิน 12,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือในกรณีเร่งด่วน โดยพิจารณาค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐตามข้อ 3. เงินงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และ เงินกองทุนพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย มาตรา 49 (3) (ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1,860 ล้านบาท) มาหมุนเวียนสมทบในจำนวนที่เหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง