ไทยเร่งแก้ปัญหาประมงก่อนถูกอียูคว่ำบาตร

เศรษฐกิจ
25 เม.ย. 58
14:56
240
Logo Thai PBS
ไทยเร่งแก้ปัญหาประมงก่อนถูกอียูคว่ำบาตร

ปรเทศไทยมีเวลา 6 เดือนเพื่อแก้ปัญหาด้านการประมง เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปให้ใบเหลืองไทยเนื่องจากแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายไม่ดีพอ หากไม่ทันตามกำหนด สหภาพยุโรปหรืออียูอาจคว่ำบาตรสินค้าประมงไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท

สินค้าประมงไทยมีมูลค่ากว่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาท แต่เฉพาะที่ส่งไปสหภาพยุโรปหรืออียู มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละเกือบ 30,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EC ประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทยเมื่อ 21 เมษายน 2558 เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม

แม้ขณะนี้ยังมีเวลาแก้ไขอีก 6 เดือน แต่หากไทยแก้ไขปัญหาไม่ทัน อียูอาจพิจารณาให้ใบแดง คว่ำบาตรสินค้าประมงจากไทยที่ส่งไปอียู มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจเลือกใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เร่งกระบวนการแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า กำลังเร่งแก้ปัญหาใน 3 ประเด็น ทั้งเรื่องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องและได้รับการยอมรับ การทำแผนปฎิบัติการของประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยต้องการแก้ปัญหาการประมงที่ไม่ถูกต้อง การจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าประมงที่ส่งไปอียู

ข้อมูลจากกรมประมงรายงานมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงไทยใน 4 กลุ่มคือ กุ้ง หมึก ปลา อาหารทะเลกระป๋อง ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2557 มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท จากสินค้าประมงที่ส่งทั่วโลกมีมูลค่าร่วมกัน 228,284 ล้านบาท เฉพาะการส่งออกสินค้าประมงไปอียูปี 2557 ข้อมูลจากไทยพับลิกา รายงานว่ามีมูลค่ารวมกัน 27,688 ล้านบาท

สินค้าประมงที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย ทูน่ากระป๋อง, หมึกสดแช่เย็นแข่แข็ง, กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง, กุ้งปรุงแต่งและอาหารสุนัขและแมวกระป๋อง ขณะที่สมาคมการประมง จ.สมุทรสงคราม เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาใน 3 ด้านคือ ปัญหาแรงงาน การออกทะเบียนเรือและอาญาบัตรเรือ เพราะปัจจุบันเรือบางลำใช้อาญาบัตรผิดประเภทและปัญหาด้านแรงงานเสนอให้รัฐบาลเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานโดยไม่มีเงื่อนเวลา เนื่องจากแรงงานเข้าและออกตลอดปี หรือนำเข้าแรงงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง