ตร.-ทหารคุมที่ดิน "หาดราไวย์" หลังชายฉกรรจ์ปะทะชาวเล

ภูมิภาค
27 ม.ค. 59
19:29
1,869
Logo Thai PBS
 ตร.-ทหารคุมที่ดิน "หาดราไวย์" หลังชายฉกรรจ์ปะทะชาวเล
เช้าวันนี้ (27 ม.ค.2559) เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มชาวเลอุรักละโว้ยและกลุ่มนายทุน ซึ่งนำชายฉกรรจ์กว่า 100 คน พร้อมด้วยรถแบ็คโอและรถบรรทุกหินขนาดใหญ่เข้าปรับพื้นที่ในที่ดินริมทะเลใน ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต แต่ถูกชาวเลขัดขวาง

กลุ่มชาวเลกล่าวว่าเหตุที่ไม่ยอมให้นายทุนเข้ามาปรับพื้นที่เนื่องจากเกรงว่าจะปิดเส้นทางการเข้าออกของชาวบ้าน ความตึงเครียดมีมากขึ้นจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายปะทะกัน ใช้ไม้และก้อนหินเป็นอาวุธมีผู้บาดเจ็บหลายคน

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยตำรวจและทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่ โดยเรียกตัวแทนชาวบ้านและฝ่ายนายทุนเข้าพูดคุย เพื่อยุติปัญหา จนสถานการณ์คลี่คลายลง

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนที่อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนี้และกลุ่มชาวบ้านเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนหน้านี้ผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพยายามเข้าปรับพื้นที่และนำหินมาปิดกั้นเส้นทาง แต่ชาวบ้านอ้างว่าบริเวณดังกล่าวเป็นทางเข้าออกระหว่างชุมชนกับสุสาน และเป็นที่ดินสาธารณะที่คนในหมู่บ้านใช้นานกว่า 20 ปี เมื่อผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเข้ามาปรับพื้นที่ จึงถูกชาวบ้านต่อต้านและขัดขวางต่อเนื่อง แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะได้เรียกสองฝ่าเข้าพูดคุย แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนเกิดการเผชิญหน้าและทำร้ายกันอีกครั้งเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (27 ม.ค.)

มูลเหตุข้อพิพาทชาวเล-นายทุน ที่ดินหาดราไวย์

ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมหาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินกว่า 19 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2508 หลังการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในปี 2514 มีการฟ้องร้องชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน ให้ออกนอกพื้นที่ ล่าสุดมีคดีความที่ยังอยู่ในชั้นศาล 104 คดี

ชาวบ้านและผู้ถือเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินรายแรกให้ข้อมูลไม่ตรงกันเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นการเข้ามาอาศัยในพื้นที่ริมหาดผืนนี้ นำไปสู่การเรียกร้องพิสูจน์สิทธิ์ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล

การแก้ไขปัญหาที่ดูเหมือนจะมีความคืบหน้ามากที่สุด คือ กระบวนการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ลงพื้นที่ขุดหากระดูกบรรพบุรุษชาวบ้านบริเวณเดียวกับที่อยู่อาศัย เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของดีเอ็นเอ ซึ่งพบว่าโครงกระดูกชาวเลโบราณมีดีเอ็นเอตรงกับชาวเลที่อาศัยในพื้นที่ปัจจุบัน

ปี 2558 กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีมติเสนอไปยังกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิของผู้ถือครอง แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า ว่าเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวจะถูกเพิกถอนหรือไม่

นอกจากที่ดินซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินแปลงติดกันก็ถูกเปลี่ยนมือเป็นของเอกชนรายใหม่ ทางเดินเท้าสาธารณะที่ชาวเลเคยใช้เพื่อเดินผ่านไปยังพื้นที่ประกอบพิธีและฝังศพของบรรพบุรุษก็กลายเป็นปัญหาใหม่ที่นำมาสู่ความรุนแรง

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองมองว่า รัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนเร่งแก้ไขเพื่อลดความรุนแรงเฉพาะหน้า

"เรื่องนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ รัฐบาลต้องเร่งพิสูจน์สิทธิที่ดินในพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเล และต้องประกาศพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นทางสาธารณะอย่างถาวรเพราะเป็นเส้นทางที่ชาวเลใช้เดินเข้าออกชุมชน" นายไมตรีกล่าว

วันที่ 29 ม.ค.2559 จะมีการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมากกว่า 40 ปี โดยมีชาวเลกว่า 2,000 ชีวิต ที่รอการคอยความสำเร็จของการแก้ไขปัญหานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง