“ดีเอสไอ” ชี้ที่ดินราไวย์ “ชาวเล” อยู่อาศัยมาก่อน หลักฐานโบราณ-ภาพถ่ายก่อนออกโฉนดชัดเจน

สังคม
30 ม.ค. 59
10:32
3,298
Logo Thai PBS
“ดีเอสไอ” ชี้ที่ดินราไวย์ “ชาวเล” อยู่อาศัยมาก่อน หลักฐานโบราณ-ภาพถ่ายก่อนออกโฉนดชัดเจน
ดีเอสไอพบหลักฐานชาวเล ราไวย์ อยู่มาก่อนเอกสารสค.1 ที่กลุ่มทุนเอาไปขอออกโฉนด พบทั้งกระดูกบรรพบุรุษ หลักฐานโบราณคดี ต้นมะพร้าว ภาพถ่าย ฯลฯ ส่งมอบทั้งหมดให้ศาลพิจารณาอีกครั้ง ขณะที่ทุกฝ่ายนัดเจรจาแก้ปัญหา 2 ก.พ.นี้

จากกรณีชายฉกรรจ์กว่า 100 ราย พร้อมรถสิบล้อและแบคโฮ บุกปิดล้อมทางสัญจรของชุมชนชาวเลดั้งเดิม ในชุมชนชาวไทยใหม่ หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมทั้งใช้กำลังเข้าปะทะ ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บร่วม 10 ราย ในช่วงสายวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา โดย บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณดังกล่าวตามกฎหมาย จำนวน 33 ไร่

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลเสียต่อภาพลักษณ์ จ.ภูเก็ต ไปทั่วโลก และในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หลังจากนี้ไม่ว่าหน่วยงานใดจะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ให้แจ้งทางจังหวัดรับทราบทุกครั้ง “หากมีเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก ผมจะรายงานให้ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป”

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นได้สั่งให้บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด นำแท่งแบริเออร์และก้อนหินที่นำมาปิดทางสัญจรออก และให้หยุดก่อสร้างจนกว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุมวันที่ 2 ก.พ.2559 ส่วนกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บให้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไป

 

 

ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า ชาวเลอยู่ในพื้นที่มานานแล้วจึงต้องหาทางพูดคุยกับนายทุนที่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงไปแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และจะต้องตรวจสอบย้อนหลังถึงที่มาของเอกสารสิทธิที่นายทุนอ้างการครอบครองว่าได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ด้วย

ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. ตัวแทนชาวเล หาดราไวย์ เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ในจ.ภูเก็ต เพื่อขอให้ช่วยประสานงานให้ นายชาลี โสภณพานิช ลูกชาย นายชาตรี โสภณพานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ มาเจรจากับชาวบ้าน เนื่องจากนายชาลี เป็นกรรมการบริหาร บริษัทบารอนฯ 1 ใน 5 คนที่ประกอบด้วย 1.นางสุชาดา ลีสวัสดิ์ตระกูล 2.นายพิชัย โกมลวิทยาธร 3.นายชาลี โสภณพนิช 4.นายวิวัฒน์ สุทธิพงษ์ชัย 5.นางสาวิตรี รมยะรูป ด้วย

นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ประสานงานชาวเล ราไวย์ กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวเดิมชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่เข้าถึงหาดที่ชาวเลใช้จอดเรือประมง เอาปลาขึ้นจากเรือ และวางเครื่องมือประมง เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมของชุมชน ใกล้เคียงกันนั้นยังเคยใช้เป็นสถานที่ฝังศพทารกที่เสียชีวิตด้วย นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีบ่อน้ำที่ชุมชนเคยใช้สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นทางเดินเดียวที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินเพื่อเข้าถึงชายหาด ชาวบ้านคาดหวังว่าเจ้าของที่ดินจะเข้ามาหารือพูดคุย ในวันที่จะมีการหารือระหว่างส่วนราชการ ชาวบ้าน และเจ้าของที่ดิน ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต วันที่ 2 ก.พ.นี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มชายฉกรรจ์กับชาวเล ราไวย์ นายชาตรี หมาดสตูล ผู้แทนบริษัทบารอน เวิลด์เทรด จำกัด เลขที่ 49 ซอยพิพัฒน์ ถ.สีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ ได้ทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 ขอให้ “จัดกำลังพลทหารมาดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับพนักงานก่อสร้างที่บริษัทฯ ได้ว่าจ้างมาปรับปรุงพื้นที่” ซึ่งผบ.ควบคุมมทบ.41 ได้สั่งการให้จัดกำลังสนุบสนุน ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วย

 

 

ล่าสุด วันที่ 29 ม.ค. พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายทุนกับชาวเล หาดราไวย์ ว่า ขณะนี้ได้ข้อมูลอ้างอิงประกอบการพิจารณา โดยรมว.ยุติธรรม ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หาแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่ตรวจสอบที่ทำกินชาวเลราไวย์ มีการออกส.ค.1 ไปทับที่ของชาวเล ก่อนนำออกมาออกโฉนด ต่อมาผู้มีชื่อในโฉนดคนแรกตาย ตกทอดมารุ่นลูกรุ่นหลาน ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน มี 3-4 คดี บางคดีในศาลชั้นต้น ส่วนใหญ่แพ้คดี ศาลพิพากษาให้ชาวเลออกจากพื้นที่ จากนั้นทางชาวเลได้ร้องขอให้ดีเอสไอช่วยค้นหาความจริง

พ.ต.ท.ประวุธกล่าวว่า เรื่องนี้มีการเล่าประวัติศาสตร์ของชาวเล มาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เอาศพไปฝังที่เกาะเฮ ต่อมาศพถูกรื้อออกไป การทำกินในพื้นที่ของชาวเลจะมีการฝังศพใกล้กับบ้านพักอาศัย เพราะไม่มีศาสนา นับถือดวงวิญญาณ ผูกพันกับร่างบรรพบุรุษ ผู้เสียชีวิตฝังใกล้บ้านมีการฝังศพเรียงตามทิศทางประเพณี เมื่อเป็นคำบอกเล่าไม่มีหลักฐาน ศาลไม่รับฟัง ยืนยันอีกฝ่ายมีโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ชาวเลจึงต้องการให้ดีเอสไอ ช่วยหาพยานหลักฐาน

“ชาวเลอยู่มาก่อน 100 ปี หลักฐานยืนยันได้ว่าช่วง เปลี่ยน ส.ค.1 เป็นโฉนด มีคนในชุมชนเต็มพื้นที่ แต่ไม่มีคนไปสอบสวนสิทธิ์ ชาวเลไม่มีความรู้ อยู่แบบพอเพียง มีอาชีพหาปลา วันหนึ่งมีคนมาออกโฉนดทับที่ชุมชน ซึ่งชาวเลไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่รังวัด การออกโฉนดคือการออกให้กับคนที่มีสิทธิ์ในที่ดินแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และกลับออกโฉนดในพื้นที่ดังกล่าว” พ.ต.ท.ประวุธกล่าว

วันนี้มีการนำเสนอพยานหลักฐาน ให้ทราบ เมื่อชาวเลอยู่มาเป็นร้อยปี ถนนสาธารณะ เขาใช้เป็นเส้นทางสัญจร เดินไปทำพิธีกรรม คนที่ซื้อที่ดินออกโฉนดครอบอ้างสิทธิ์ และเรามีข้อมูลให้จังหวัดภูเก็ต ประกอบการพิจารณาแก้ปัญหา

 

 

สำหรับชาวเลราไวย์ มีจำนวนกว่า 300 ครัวเรือน ประชากรกว่า 2,000 คน มีการร้องทุกข์ รูปแบบโฉนดรวม 3 แปลง แปลงสำคัญ แปลงใหญ่มีชาวเลอาศัยไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ซึ่งที่ดินตรงนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ส.ค.1 ออกก่อน 2498 ออก ส.ค. 1 ทับที่ชาวเล มีหลักฐานทั้งก่อนออก ส.ค.1 แจ้ง ส.ค. 1 หลัง ออก ส.ค. 1 ประกอบกัน

สิทธิในที่ดินมีความสำคัญ ตรวจสอบค้นหากิจกรรมที่ชาวเลทำในอดีตพบหลักฐานพิธีฝังศพ ใกล้บ้าน เขามีการซ่อมบ้านขุดดินเจอกระดูก เขาไม่รู้ว่าคือหลักฐานเอาไปโยนทิ้งทะเล ได้ขอหมายศาลทำการขุดค้น ได้รับจาก สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ให้ช่วยมาทำการขุดค้นทางโบราณคดี ใช้เวลา 6 วัน ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจดีเอ็นเอ จัดกลุ่มเครือญาติ โดยโครงกระดูก คือ บรรพบุรุษ คนในชุมชนปัจจุบัน เป็นความจริง ในพยานหลักฐาน ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น การฝังศพ ของชาวเล ในที่ดินเขาเอง ทางโบราณคดีขุดค้นยังพบหอยสวยงามจำนวนมาก วางใกล้กระดูก มีหลักฐานสำคัญทางการศึกษาของชาวเล ที่ โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ จ.ภูเก็ต

พ.ต.ท.ประวุธกล่าวต่อว่า มีทะเบียนนักเรียนก่อนปี 2500 ต้องมีคนอยู่ในชุมชนนั้นไม่ต่ำกว่า 90คน ในจำนวนนี้มี 10 คนยังมีชีวิตอยู่ มีนามสกุลพระราชทาน จากสมเด็จย่าฯ ประทานให้ชาวเล มีภาพถ่ายทางอากาศยืนยันได้ว่า พื้นที่ออกโฉนดเป็นที่จอดเรือ ปัจจุบันยังมีจอดอยู่ สังเกตต้นมะพร้าว อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี เอามาวิเคราะห์การออกโฉนดที่ดิน ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2510 มีการขยายตัวของประชากรหนาแน่นมากขึ้น

“โฉนดพบว่ามีการสอบสวนสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บอกเพียงปลูกมะพร้าว 10 ปี เป็นข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จึงตีความได้ว่าออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โฉนดอีกใบออกปี 2512 ไม่มีการเรียกคนมาสอบสวนสิทธิ์ จึงชี้มูลได้ว่าออกโดยมิชอบ

“ยืนยันว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน ได้แจ้งให้ชาวเลทราบ พร้อมนำหลักฐานขึ้นสู่ศาล มีภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังปี 2510 มีเส้นทางของคนใช้เดินกันเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาของจังหวัด ทางดีเอสไอจะสนับสนุนข้อมูลให้ทางจังหวัดและพร้อมจะมาชี้แจงในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จะนำผู้เชี่ยวชาญภาพถ่ายทางอากาศ และเชิญหมอตรวจดีเอ็นเอ มาร่วมประชุมด้วย” ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ กล่าว

 

 

พ.ต.ท.ประวุธกล่าวอีกว่า คดีนี้เป็นคดีที่ขาดอายุความแล้ว สิ่งที่มาทำคือ เข้าช่วยเหลือหาพยานหลักฐานให้ชาวบ้านต่อสู้อย่างเป็นธรรม มองถึงปัญหาที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้ เราทำเองยังต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงาน เช่น โบราณคดี นิติวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ ผู้เชี่ยวชาญอ่านแปลภาพถ่าย ผู้เชี่ยวชาญสืบสวนสอบสวน เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านคงหาแบบที่เราทำไม่ได้ จึงต้องการให้ชาวบ้านนำเอาหลักฐานเหล่านี้ต่อสู้อย่างเป็นธรรมให้ศาลพิจารณาอย่างรอบด้าน

“เชื่อว่าแนวทางที่เราได้ขุดคุ้ยมาตลอด ชาวเลได้เข้าใจวิธีการทำงานอย่างเปิดเผย เชื่อว่าชาวเลเชื่อมั่นพยานหลักฐานที่เรารวบรวมมาได้ เพื่อให้การในชั้นศาล เรียกสิทธิที่เขาควรจะได้รับกลับคืนมา”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง