กรมชลฯชี้ภัยแล้ง 59 รุนแรงสุดในรอบ 22 ปี

ภูมิภาค
1 ก.พ. 59
10:11
182
Logo Thai PBS
กรมชลฯชี้ภัยแล้ง 59 รุนแรงสุดในรอบ 22 ปี
อธิบดีกรมชลประทานระบุถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว ถือเป็นภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี แต่ยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชน

วันที่ (1 ก.พ. 2559) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลืออยู่ 3,489 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำลงอีกเมื่อเทียบกับปีที่ 2558 ที่มีปริมาตรน้ำรวม 6,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยถือว่าเป็นภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชน แต่น้ำในภาคการเกษตรจะไม่เพียงพอ ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกนาปรังในเขตกรมชลประทานเหลือประมาณ 1,800,000 ไร่ และนอกพื้นที่เขตชลประทานจำนวนหนึ่ง รวมพื้นที่ปลูกนาปรังมีประมาณ 2-3 ล้านไร่ และเป็นการเพาะปลูกของเกษตรกรที่ระบุว่ามีความพร้อมในการจัดหาน้ำเองไม่ต้องพึ่งพาน้ำจากภาครัฐ

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนแน่นอน สอดรับกับฤดูกาลปลูกข้าวนาปี 2559/2560 พอดี สาเหตุที่มั่นใจ เพราะล่าสุดปรากฏการณ์เรือนกระจก หรือ เอลนิโญ เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ประกอบกับขณะนี้มีสภาพอากาศเย็นเข้ามาในไทยในหลายครั้งที่แม้จะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่ผลที่เกิดจากอากาศเย็นมาหลายระลอกและถอยกลับ จะทำให้เกิดแนวปะทะของอากาศ ทำให้เกิดฝนตกบ่อยครั้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับสภาพอากาศโดยรวม

สำหรับฝนลงมาในช่วงฤดูฝนเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนเท่านั้น แต่ปริมาณฝนคงไม่สามารถเติมเต็มน้ำในเขื่อนให้มีปริมาณเพิ่มจากปัจจุบันมากนัก จึงจำเป็นต้องนำแนวทางการทำฝนเทียมมาใช้ ส่วนแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอีของ ธ.ก.ส. ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่เป็นมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ตามปกติ

สำหรับโครงการของ ธ.ก.ส. ที่เตรียมไว้ 3 โครงการ วงเงิน 93,000 ล้านบาทประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 72,000 ล้านบาท 2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินของเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558/2559 วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท และโครงการที่ 3 เป็นการให้สินเชื่อกับชุมชน ปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้ง 26 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบหนัก ให้มีอาชีพและรายได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง