นักวิชาการชี้รัฐธรรมนูญใหม่สถาปนา "ประชาธิปไตยแบบส่วนเสี้ยว"

สังคม
27 เม.ย. 58
15:56
226
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้รัฐธรรมนูญใหม่สถาปนา "ประชาธิปไตยแบบส่วนเสี้ยว"

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้างกลุ่มองค์กรขึ้นมาควบคุมรัฐบาลและผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยแบบส่วนเสี้ยว ส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้

การเสวนาประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย วันนี้ (27 เม.ย.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะสร้างให้เกิดระบอบประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม มีการสร้างกลุ่มบุคคล องค์กร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่ เข้ามาควบคุมตัวแทนและภาคส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสามารถใช้อำนาจได้ไม่ต่างจากนักการเมืองในภาวะปกติ โดยโครงสร้างการเมืองในลักษณะนี้เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในหลายที่ประเทศที่ประชาธิปไตยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และมีหลักเกณฑ์ทางคุณธรรม จริยธรรมเข้ามากำกับควบคุมคุณค่าของประชาธิปไตย

"สภาวะนี้อนุญาตกลุ่มการเมืองแข่งขันผ่านการเลือกตั้ง แต่จะมีการยกเว้นในบางตำแหน่ง ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ถูกควบคุม หรือประชาธิปไตยแบบส่วนเสี้ยว ที่ในยุคหนึ่งประเทศไทยเคยมีประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ แต่ในครั้งนี้ประชาธิปไตยเหลือเพียง ร้อยละ 25" ประจักษ์ ระบุ

สอดคล้องกับนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ที่มองว่ารัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมเนื่องจากมีฐานทางวัฒนธรรมรองรับที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน โดยเฉพาะค่านิยมเรื่องศีลธรรมจริยธรรมที่เป็นฐานซึ่งปรากฏผ่านวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทย แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าคนจำนวนมากอาจไม่ได้ยึดถือคุณค่าของเรื่องนี้อีกแล้ว

ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ซึ่งตามวงจรของการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ถือว่าอยู่ในขั้นของการที่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยถูกท้าทายหลังมีการบังคับใช้ โดยเป็นการท้าทายจากระบอบเก่าที่นำมาสู่รัฐประหาร 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากนี้ยังอธิบายถึงการเขียนการนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหารว่ามีพัฒนาการจากในอดีตที่เพียงเขียนเป็น พ.ร.บ. แต่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2534 มีการเขียนรับรองในรัฐธรรมนูญและเขียนรับรองในทุกมิติในรัฐธรรมนูญ 2550

ส่วนประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย นิธิมองว่าจากประสบการณ์ของหลายประเทศในโลก ที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ ทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่ไม่พัฒนา ซึ่งในบางสังคมสามารถใช้คำอธิบายเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจได้

ขณะที่ประจักษ์มองว่า สังคมไทยออกจากวิกฤตได้ยาก จากบทเรียนของหลายประเทศไม่สามารถเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยได้โดยไม่ทำอะไร ขณะที่การตั้งคำถามในเชิงวิชาการว่าการเคลื่อนตัวของระบอบเผด็จการอาจไม่ได้พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยในแบบเส้นตรง แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอาจวกกลับมาสู่การรัฐประหารได้ นอกจากนี้ยังเกิดคำถามใหม่ว่าเหตุใดระบอบเผด็จการจึงปรับตัวได้ดีขึ้น

ด้านชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าความขัดแย้งในสังคมไทยมีสภาพที่ลึกกว่าการตัดสินไม่ได้ว่าจะมีประชาธิปไตยแบบไหน แต่ถึงขั้นที่ประชาชนในประเทศไม่มีฉันทามติร่วมกันว่าต้องการมีการเมืองภายใต้ระบอบใด

"อาการของความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อต่างจากความขัดแย้งทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการจัดความขัดแย้งของคนในสังคมลดลงไปด้วย ผลคือความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ เสื่อมลง และกระบวนการที่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ก็เสื่อมลงด้วย" ชัยวัฒน์ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง