กรมอุตุฯเผยประเทศไทยมีฝนกระจายตัวร้อยละ 20 - 40

สังคม
28 เม.ย. 58
02:25
67
Logo Thai PBS
กรมอุตุฯเผยประเทศไทยมีฝนกระจายตัวร้อยละ 20 - 40

กรมอุตุนิยมวิทยาเผยประเทศไทยมีการกระจายตัวของฝนร้อยละ 20 - 40 ของพื้นที่ มากที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าสาเหตุที่ทำให้หลายพื้นที่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก คือลมตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ทำให้บริเวณเหล่านี้รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในช่วงวันที่ 28 - 30 เมษายน สำหรับภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเช่นกันเพราะตอนนี้มีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนเข้ามาปกคลุม คลื่นกระแสลมจะเหนี่ยวนำให้อากาศร้อนซื้นลอยตัวขึ้นไปเกิดเป็นเมฆและฝนตกลงมาได้
 
วันนี้ (28เม.ย.2558) ประเทศไทยมีการกระจายตัวของฝนร้อยละ 20 - 40 ของพื้นที่ มากที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ และทุกภาควันนี้ยังมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางแห่งได้ 
 
มาดูช่วงเวลาและพื้นที่การกระจายตัวของฝนในวันนี้จากแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 3 ชั่วโมงของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเช้าวันนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีโอกาสฝนตก พอมาถึงในช่วงบ่ายฝนจะตกในหลายพื้นที่ เช่น ด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงเย็นจะมีการกระจายตัวของฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง
 
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะมีฝนลดลงในปลายสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 - 3 พฤษภาคม 2558 เพราะว่าช่วงนี้ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาจะมีกำลังอ่อนลงไป จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง ส่วนภาคเหนือจะมีฝนลดลงเช่นกัน เพราะว่าคลื่นกระแสลมตะวันตกจะเคลื่อนผ่านไปแล้ว
 
เมื่อวานนี้ ประเทศเนปาลยังคงมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นหลายครั้งโดยมีแผ่นดินไหวขนาด 4 ขึ้นไปจำนวน 6 ครั้ง หนึ่งในนั้นมีขนาด 5.2 รศ.เอนก ศิริพานิชกร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิเคราะห์ความเสียหายของอาคารในประเทศเนปาลที่พังเสียหายจากแผ่นดินไหวว่าน่ามีการจะสร้างเสา และคานขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นจึงใส่กำแพงเข้าไป ทำให้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว กำแพงจะพยายามค้ำตัวอาคาร ทำให้เกิดแรงดึง จนทำให้กำแพงและเสาที่รองรับน้ำหนักของตัวอาคาร เกิดความเสียหาย พัง และถล่มลงมา สำหรับอาคารที่มีรอยร้าวในแนวแทยงทั้งเสา หรือกำแพง อาคารนั้นมีความเสี่ยงที่จะพังลงมาหากเกิดอาฟเตอร์ช็อกขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง