กังวล PDP 2015 ผลิตไฟเกินส่งผลค่าไฟสูง เรียกร้องจัดรับฟังใหม่ให้ทั่วถึง

เศรษฐกิจ
28 เม.ย. 58
14:00
200
Logo Thai PBS
กังวล PDP 2015 ผลิตไฟเกินส่งผลค่าไฟสูง เรียกร้องจัดรับฟังใหม่ให้ทั่วถึง

กระทรวงพลังงานจัดเวทีรับฟังความเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2558 - 2579 ประเด็นหลักที่ภาคประชาชนกังวลคือจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจนมีไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นเกือบ 40 % ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น กับเรียกร้องให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึงมากกว่านี้ เนื่องจากเป็นแผนที่ผูกพันการลงทุนของประเทศและประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้า

วันนี้ (28 เม.ย.2588) กระทรวงพลังงาน จัดเวทีรับฟังความเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2558 - 2579 (Power Development Plan หรือ PDP 2015) ซึ่งเป็นแผนที่ระบุว่าในอนาคตอีก 20 ปี ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าประเภทใดบ้าง จำนวนเท่าไหร่ โดยมีนักวิชาการ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น  

ประเด็นสำคัญของแผน PDP 2015  นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม 57,467 เมกะวัตต์ตลอด 20 ปี ตามแผน PDP นี้ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ผูกพันหรือมีสัญญาว่าจะต้องก่อสร้างหรือซื้อไฟฟ้าแล้ว รวม 26,659 เมกะวัตต์ ขณะที่แผน PDP ฉบับนี้ก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานได้กว่า 89,000 ล้านหน่วย หรือทำให้สามารถลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์  และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกถึง 19,635 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม แม้จะเน้นสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกแต่ก็จะมีอุปสรรคด้านสายส่งไฟฟ้าที่มีไม่ทั่วถึงเพียงพอที่จะรองรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่จะเกิดขึ้นกระจายทั่วทุกภูมิภาคได้ โดยอาจต้องจัดโซนนิ่ง

ขณะที่ประเด็นหลักที่นักวิชาการและภาคประชาชนแสดงความกังวลในประเด็นหลักคือ ตามแผนนี้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจนมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 39.3 % เนื่องจากมีโครงการผูกพันที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าไว้แล้วถึงกว่า 30 โรง หรือ 26,659 เมกะวัตต์ ทั้งที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองควรมีเพียง 15 %

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค จึงตั้งคำถามต่อกระทรวงพลังงานว่า กระทรวงพลังงานจะรับผิดชอบต่อค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะการผลิตไฟฟ้าที่เกินความต้องการจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องจ่าย  ขณะที่นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ  ถามกระทรวงพลังงานว่า ทำไมต้องมีสัญญาผูกมัดว่าต้องสร้างทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่าเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็น

ด้านนายดุสิต เครืองาม สมาชิก สปช.ด้านพลังงาน เสนอความเห็นว่า หากแผน PDP ยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากเกินความจำเป็นมากเช่นนี้ ก็ควรปรับกำลังผลิตสำรองให้อยู่ในระดับเหมาะสมก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรีเพราะกำลังผลิตสำรองที่มากเกินควร จะเป็นภาระค่าไฟฟ้าประชาชน ครม.คงจะตั้งคำถามอย่างมากในประเด็นนี้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็นในช่วงแรกของแผน แต่ก็จะบริหารจัดการให้อยู่ในระดับ 15 % ในช่วงท้ายของแผนโดยการลดการสร้างโรงไฟฟ้าลงในช่วงหลัง  แต่ก็ระบุว่า จะพยายามเจรจาโครงการที่เซ็นสัญญาก่อสร้างไว้แล้วว่า จะยืดหยุ่นได้หรือไม่อย่างไร

อีกประเด็นที่เกือบทุกคนที่ลุกขึ้นแสดงความเห็นกล่าวถึงก็คือ ระยะเวลาและวิธีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ต่างเห็นว่า ระยะเวลารับฟังเพียงครึ่งวัน และจัดครั้งเดียวที่กรุงเทพ ไม่มีความทั่วถึงประชาชนหลายภาคส่วน ที่ได้รับผลกระทบ มีความขัดแย้งเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าและเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้า จึงเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานจัดรับฟังความคิดเห็นขึ้นให้มีระยะเวลาและในภูมิภาคที่สามารถรับฟังประชาชนได้อย่างทั่วถึงก่อน

 “เวลาภาคประชาชนถาม ผู้ดำเนินรายการขอให้สรุปสั้น ๆ  แต่เมื่อกระทรวงพลังงานชี้แจง ก็ให้ตอบได้ทุกคน และเวทีก็ให้เลิกแค่เที่ยง  และจัดที่กรุงเทพครั้งเดียว  เวทีนี้ประชาชนมาร่วมได้ไม่ทั่วถึง  ขอให้เปิดเวทีรับฟังให้ทั่วถึงและให้เวลาเต็มที่มากกว่านี้ เพราะค่าไฟฟ้ากระทบถึงทุกคน”  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

สอดคล้องกับนายดุสิต เครืองาม สมาชิก สปช.ด้านพลังงานที่อ้างถึงร่างรับธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ ว่ามีเจตนารมณ์ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ จึงเรียกร้องให้ขยายเวลาเปิดรับฟังความเห็นให้มากกว่านี้ก่อนเสนอเข้า ครม.

ทั้งนี้ตามกำหนดของกระทรวงพลังงานระบุว่า หลังจากเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนแล้ว กระทรวงพลังงานจะรวบรวมความเห็นเพื่อนำไปปรับแก้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015 ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 18 พ.ค.2558 และขออนุมัติแผนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามแผนต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง