สภาป่วนหลังส.ส.เพื่อไทยประท้วงไม่ร่วมกมธ.

การเมือง
25 พ.ย. 53
15:52
49
Logo Thai PBS
สภาป่วนหลังส.ส.เพื่อไทยประท้วงไม่ร่วมกมธ.

พรรคเพื่อไทยเตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญขับ 7 ส.ส.ของพรรคที่ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับของรัฐบาล ขณะที่ผลการโหวตมติรับหรือไม่รับร่าง ปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ถูกเสนอโดยรัฐบาล ผ่าน ส่วนอีก 2 ฉบับตกไป

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2550 ฉบับคปพร. และที่ถูกเสนอโดย 102 ส.ส. เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบนั้น ได้ตกไปแล้ว โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2550 ฉบับคปพร. สมาชิกรัฐสภาลงมติรับร่าง 222 เสียง ไม่รับร่าง 235 เสียง และงดออกเสียง 123 เสียง ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ.2550 ที่ถูกเสนอโดย 102 ส.ส.นั้น สมาชิกรัฐสภาลงมติรับร่าง 148 เสียง ไม่รับร่าง 177 เสียง และงดออกเสียง 212 เสียง

ส่วนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอโดยรัฐบาล มาตรา 93-98 ในประเด็นที่มาของ ส.ส. จากระบบเขตใหญ่เป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว สมาชิกรัฐสภาลงมติรับร่าง 330 เสียง ไม่รับร่าง 156 เสียง และงดออกเสียง 34 เสียง

ซึ่งกว่าที่จะประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ ก็เกิดความวุ่นวายภายในสภา เนื่องจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทักท้วงความผิดปกติ จากคะแนนที่ขานเบื้องต้น 333 เสียง หรือ 332 เสียง และมีรายชื่อของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเห็นชอบอยู่ด้วย จึงต้องใช้เวลาตรวจสอบใหม่

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับของรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ส. โดยมีกรรมาธิการรวม 24 คน และแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะประกาศเจตนารมณ์ไม่ร่วมตั้งกรรมาธิการ แต่ท้ายที่สุด นายปิยะรัช หมื่นแสน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็มีการเสนอรายชื่อส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย

รายชื่อที่นายปิยะรัชเสนอเป็นกรรมาธิการฯ ฉบับของรัฐบาล จำนวน 7 คน กลายเป็นสาเหตุให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนแสดงความไม่พอใจ เพราะสวนกับเจตนาของพรรค ซึ่งมีทั้งด่าทอด้วยคำที่หยาบคาย และวางมวยเกือบต่อยกัน โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกเชิญออกจากห้องประชุม เพื่อยับยั้งเหตุการณ์ ขณะที่นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ลุกขึ้นกล่าวย้ำว่า ไม่ใช่สมาชิกของพรรค และเตรียมฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขับออกจากพรรค

สำหรับขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายร่วมกันในกรรมาธิการฯ และเมื่อเปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไป โดยประมาณคือปลายเดือนม.ค.54 ถึงจะนำข้อสรุปที่ได้มาให้ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ก่อนขอมติเห็นชอบในวาระ 2 ด้วยเสียงข้างมากของที่ประชุมเท่านั้น และหากผ่านวาระ 2 แล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตรวจทานความสมบูรณ์ก่อนลงมติวาระ 3 โดยนัดประชุมห่างจากการลงมติในวาระ 2 เป็นจำนวน 15 วัน และลงมติให้มีผลบังคับใช้ด้วยคะแนนที่มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า 310 เสียง

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเชื่อมั่นว่า กรรมาธิการฯ จะพิจารณารายละเอียดโดยรับฟังทุกฝ่าย และปราศจากเจตนาทางการเมืองอื่นแอบแฝง

ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมบริเวณด้านหน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มีท่าทีที่อ่อนลง หลังตัวแทนได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ภายในรัฐสภา แม้ขณะนี้ยังคงจัดกิจกรรมชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้ผู้ชุมนุมรับทราบ แต่ก็มีกำหนดการที่จะเดินทางกลับในเวลา 22.00 น.

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. สมาชิกรัฐสภาได้ลงมติรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ถูกเสนอโดยรัฐบาล มาตรา 190 ด้วยคะแนน 354 เสียง ไม่รับร่าง 19 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง