สาเหตุผู้ต้องขังก่อความวุ่นวายในเรือนจำกลางลพบุรี

26 พ.ย. 53
19:01
100
Logo Thai PBS
สาเหตุผู้ต้องขังก่อความวุ่นวายในเรือนจำกลางลพบุรี

เหตุประท้วงของผู้ต้องขังเรือนจำกลางลพบุรีเนื่องจากไม่พอใจเจ้าหน้าที่ในการทำงานครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนปี 2548 ก็เคยเกิดเหตุประท้วงเมื่อผู้ต้องขังไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ใช้น้ำประปา และ ชมการถ่ายทอดสดมวยทางโทรทัศน์

ปัญหาการลักลอบนำยาเสพติด และ สิ่งของต้องห้ามเข้าไปในเรือนจำโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือเป็นอีกปัญหาที่เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าพบบ่อยครั้ง จึงต้องเข้มงวดในการตรวจค้นและนี่ก็เป็นสาเหตุของความไม่พอใจให้ผู้ต้องขังก่อเหตุในครั้งนี้

นอกจากนี้มีรายงานพบผู้ต้องขัง4-5 คนที่ย้ายมาจากเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ยุยงให้ผู้ต้องขังคนอื่นก่อเหตุส่วนผู้ต้องขังชายเกรียงไกร มีโต ที่เสียชีวิตตรวจสอบเป็น 1 ในแกนนำที่ไม่ยอมให้ยุติความวุ่นวาย

การแก้ปัญหาเบื้องต้นเรือนจำกลางลพบุรี แยกผู้ต้องขังที่เป็นแกนนำ 51 คน ไปควบคุมตัวในเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง 4 แห่ง และ แยกผู้ต้องขังที่ร่วมก่อเหตุอีก 137 คนไปยังเรือนจำอื่นๆบริเวณใกล้เคียงอีก 6 จังหวัดแต่ทั้งนี้ทั้ง 188 คนจะถูกทำประวัติและติดตามพฤติกรรมรวมถึงถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

///////////////////

ตุลาการศาลรธน.ขอถอนตัวพิจารณาคดียุบพรรคปชป.

นายกรัฐมนตรียอมรับถึงการยุบสภาหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองร่างเสร็จสิ้น และ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เพื่อนำไปบังคับใช้ในการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้นายจรูญ อินทจาร ถอนตัวจากการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มเติมอีก 1 ราย หลังให้เหตุผลว่า ได้มีการฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอยู่

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดแถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้เงินกองทุน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ในวันจันทร์นี้นายจรูญ อินทจาร และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ทำหนังสือขอถอนตัวจากการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์โดยให้เหตุว่า ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีในคดีคลิปภาพศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อนุมัติหนังสือขอถอนตัวของนายจรูญ เพียงคนเดียว ส่วนนายสุพจน์ ไม่อนุญาต

ก่อนหน้านี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้นายเฉลิมพล เอกอุรุ และ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ถอนตัวจากการพิจารณาคดีมาแล้วเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะนั่งบัลลังก์พิจารณาในวันปิดคดียุบพรรควันที่ 29 พฤศจิกายนนี้จำนวน 6 คน จากตุลาการศาลฯจำนวนทั้งหมด 9 คน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีความผิดก็จะเดินหน้าทำงานต่อไป แต่หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ผู้ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ต้องตัดสินใจทางการเมือง โดยจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุญญากาศทางการเมืองขึ้น

นายกรัฐมนตรียังยอมรับถึงการยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองร่างเสร็จสิ้น ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีสัดส่วนของส.ส.พรรคเพื่อไทย นั้นไม่น่าเป็นปัญหาด้านการตีความเนื่องจากเป็นการแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการทำตามมติพรรค และปฏิเสธข้อกล่าวหาการเป็นเผด็จการรัฐสภา

ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าการตั้งกรรมาธิการพิจารณาแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 93 -98 และมาตรา 190 โดยไม่มีส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมเป็นกรรมาธิการเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ และยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวได้ข้อยุติแล้ว ส่วนข้อขัดแย้งในการนับคะแนนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 หลังลงมตินั้นได้มีเอกสารหลักฐานการลงชื่อรับรองของกรรมการนับคะแนนที่เป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยมายืนยันแล้ว

ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมกันในสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการกับกลุ่ม ส.ส.ของพรรค 7 คน ที่เสนอชื่อเป็นกรรมาธิการซึ่งเป็นการขัดต่อมติพรรค โดยเบื้องต้นจะเป็นการตั้งกรรมการสอบก่อนจะมีมติว่าจะมีการขับออกจากพรรคหรือไม่


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง