แถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์วันนี้

การเมือง
29 พ.ย. 53
00:02
154
Logo Thai PBS
แถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์วันนี้

วันนี้จะมีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าช่วงบ่ายวันนี้จะมีคำวินิจฉัยจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผลการวิฉัยจะออกมาในรูปแบบใดก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะส่งผลกระทบต่อการเมือง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ในฐานะผู้ร้อง และพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ถูกร้อง จะแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในคดีการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ในวันนี้ (29พ.ย.) เวลา 09.30 น.ซึ่งจะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย มีการคาดการณ์ว่าหลังแถลงปิดคดีด้วยวาจาในช่วงเช้า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีนี้เพราะขั้นตอนของการวินิจฉัยเหลือเพียงการแถลงด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ส่งบันทึกถ้อยคำของคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
นอกจากความพร้อมทางคดียังมีการตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นไปได้ที่จะมีคำวินิจฉัยในวันนี้อาจใช้มาตรฐานเช่นเดียวกับที่เคยมีคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยเมื่อ 2 ธันวาคม 2551
สำหรับแนวทางในการวินิจฉัยคดี ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ 5 ประเด็น คือ
1. ตรวจสอบกระบวนการยื่นคำร้องว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2.ตรวจสอบว่า การกระทำของ พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติพรรคการเมืองปี 2541 หรือ 2550
3.ตรวจสอบว่าการใช้จ่ายเงินกองทุนของพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2548 เป็นไปตามที่ กกต.อนุมัติหรือไม่
4.รายการใช้จ่ายเงินกองทุนของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
5. หากพบว่ามีความผิดต้องยุบพรรค ต้องใช้กฎหมายฉบับใดบังคับ
นอกเหนือไปจากแนวทางการพิจารณาคดีทั้ง 5 ประเด็น จำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ยังเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองไม่น้อย เพราะในคดีนี้จะมีตุลาการร่วมพิจารณา 6 คน จาก 9 คน เป็นผลจากการถอนตัวของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ กรณีเป็นคู่ความยื่นฟ้องหมิ่นประมาทพรรคเพื่อไทย , นายเฉลิมพล เอกอุรุ กรณีมีนามสกุลเหมือนกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และนายจรูญ อินทจาร ที่เพิ่งยื่นขอถอนตัวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากยื่นฟ้องกรณีคลิปของศาลรัฐธรรมนูญ
แม้จะไม่มีปัญหาในข้อกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 กำหนดให้คณะตุลาการต้องมีไม่ต่ำกว่า 5 คน และให้ยึดตามเสียงข้างมาก แต่หากผลการพิจารณาออกมาเป็น 3 ต่อ 3 เสียง อาจมีความเป็นไปได้ว่าการวินิจฉัยของตุลาการอาจต้องเลื่อนออกไป เพื่อทบทวนกระบวนการอีกครั้งก่อนจะมีคำวินิจฉัยใหม่ หรือหากไม่เลื่อนการพิจารณาก็อาจมีความเป็นไปได้ในอีกแนวทางหนึ่ง คือ ยึดตามกระบวนการพิจารณาคดีความอาญา ซึ่งให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีความผิด ประโยชน์ย่อมตกกับจำเลย ซึ่งหมายถึงการยกประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหา
ส่วนแนวทางการตัดสินใจคดีนี้ มีความเป็นไปได้ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ยกคำฟ้อง ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถดำเนินการพรรคได้ตามปกติ และอยู่ในฐานะแกนนำรัฐบาลต่อไป แต่หากมีคำตัดสินให้ยุบพรรคก็อาจมีความเป็นไปได้ใน 3 กรณี คือ ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด , ยุบพรรคตัดสิทธิ์เฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้อง และยุบพรรคแต่ไม่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
กรณีที่ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ จะส่งผลโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องกลายเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ทันที เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็น 1 ในกรรมการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ และยังมีกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้อีก 9 คน ที่ต้องยุติการทำหน้าที่เช่นเดียวกัน ซึ่งหากมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ รัฐสภาจะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใน 30 วัน

ส่วนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส.ของพรรค จะต้องหาพรรคการเมืองสังกัดภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัย เพื่อรักษาสภาพความเป็น ส.ส.เอาไว้ ซึ่งหากไม่ดำเนินการ จะถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ให้ยุบพรรคแต่ไม่ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค นั่นหมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน



แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง