แกลเลอรี

บันทึกจากแม่น้ำเซซาน

14 รูป
7 เม.ย. 59
607

แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นเพียงแม่น้ำสายเดียวที่กำลังพบกับความเปลี่ยนแปลงจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงก็กำลังจะหมดโอกาสไหลเป็นอิสระ <p>"แม่น้ำเซซาน" ในประเทศกัมพูชาเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อรัฐบาลกำลังสร้างเขื่อน "เซซานตอนล่าง 2" เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า <p>ปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่แม่น้ำเซซาน เพื่อบันทึกเรื่องราวของแม่น้ำและชุมชนก่อนที่เขื่อนจะสร้างเสร็จและคาดว่าจะเปิดใช้ในปี 2560 ทีมข่าวได้พบเห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแมน้ำ พันธุ์ปลาที่เป็นอาหารและแหล่งรายได้ของคนท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เราได้พูดคุยกับคนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน รวมทั้งเดินทางไปดูหมู่บ้านอพยพที่ทางการเตรียมไว้ให้ประชาชนกว่า 5,000 คนที่จะต้องย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมที่จะถูกน้ำท่วมเมื่อเขื่อนเริ่มกักเก็บน้ำ ภาพเหล่านี้แทบไม่ต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีการสร้างเขื่อนมาแล้วนับร้อยแห่ง <p>ทีมข่าวได้สัมภาษณ์ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกัมพูชาและนักธุรกิจในกรุงพนมเปญถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเขื่อนและแหล่งผลิตไฟฟ้าของกัมพูชา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ระบุว่าเติบโตร้อยละ 7 ในปี 2558 และเศรษฐกิจของกัมพูชานั้นเติบโตสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากเมียนมา ขณะนี้กัมพูชาต้องนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามและไทยถึงร้อยละ 40-50 การสร้างโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหรือถ่านหินจึงเป็นความหวังของกัมพูชาที่จะพึ่งพาตัวเองได้ด้านพลังงานไฟฟ้า <p>ตามแผน เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 จะเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2560 และขณะนี้ทางการกำลังเริ่มอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำเซซานกำลังจะถูกพันธนาการด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะไม่เพียงกระทบต่อชาวกัมพูชาเท่านั้น แต่ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

แม่น้ำเซซาน เป็นส่วนหนึ่งของ "ลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ติดกับลาวและเวียดนาม ประกอบด้วยแม่น้ำเซกอง เซซานและเซปรก
ตัวอักษรสีแดงถูกพ่นไว้บนฝาบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านซเรกอร์ จ.สตึงเตรง เป็นสัญลักษณ์ว่าจะต้องถูกอพยพ เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อน
บรรยากาศอันสงบสุขของแม่น้ำเซซานที่ จ.สตึงเตรง กัมพูชา
ชาวประมงลอยเรือหาปลาในแม่น้ำโขง ใกล้จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำเซซาน
หมู่บ้านแห่งใหม่ที่รัฐบาลจัดให้ชาวบ้านที่ต้องอพยพจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ชาวบ้านหลายคนไม่อยากย้ายจากที่เดิม เพราะหมู่บ้านอพยพไม่มีแหล่งน้ำ
เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (ภาพถ่ายเมื่อเดือน ม.ค.2559)
 ชาวบ้านซเรกอร์ที่ไม่ต้องการอพยพไปอยู่ที่ใหม่พ่นข้อความไว้บนฝาบ้านว่า "ถึงต้องตายก็จะไม่ย้ายออกจากบ้าน แม่น้ำเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของบริษัท"
คนงานของบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานตัดไม้จากรัฐบาลกัมพูชา เร่งตัดไม้ออกจากพื้นที่ป่าที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเซซานตอนล่าง 2
ชาวบ้านเกาะจาลาย กลางแม่น้ำโขงใน จ.สตึงเตรง ห่างจากเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ประมาณ 25 กม. จับปลาโดยใช้เครื่องมือการประมงแบบพื้นบ้าน
ชาวบ้านที่เคยอยู่ริมน้ำต่างกังวลกับอนาคตในหมู่บ้านแห่งใหม่ทีทางการเตรียมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน เพราะที่นี่อยู่ไกลแหล่งน้ำ
เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 สร้างกั้นแม่น้ำเซซานใน จ.สตึงเตรง ของกัมพูชา ตามแผนจะเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2560 (ภาพ: เมียช เมียน ถ่ายเมื่อเดือน พ.ย.2558)
ชาวบ้านในหมู่บ้านซเรกอร์ จ.สตึงเตรง ผูกพันกับแม่น้ำเซซานที่เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหารและเส้นทางสัญจร พวกเขากำลังจะต้องถูกอพยพไปอยู่ที่ใหม่
เจ้าหน้าที่ของบริษัทก่อสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 คุยกับผู้นำทางของทีมข่าวไทยพีบีเอสระหว่างทางไปที่หมู่บ้านอพยพ เขาระบุว่าไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่
สำรับของชาวกัมพูชาในลุ่มน้ำสามเซเต็มไปด้วยเมนูปลา ทั้งปลาต้ม ลาบปลา กินแกล้มกับผักพื้นบ้าน สะท้อนถึงความผูกพันกับปลาและแม่น้ำ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวสำหรับคุณ