จีนตั้งเมืองใหม่ที่ "เกาะซานชา" ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

ต่างประเทศ
24 ก.ค. 55
16:03
20
Logo Thai PBS
จีนตั้งเมืองใหม่ที่ "เกาะซานชา" ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ดูเหมือนจะยกระดับมากขึ้น หลังจากที่จีนจัดพิธีจัดตั้งเมืองใหม่บนเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะพาราเซลในทะเลจีนใต้ที่ทั้งจีนและเวียดนามต่างอ้างกรรมสิทธิเหนือหมู่เกาะแห่งนี้ ท่ามกลางการจับตาว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นอาจยกระดับเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้อาวุธ

เกาะซานชา เกาะเล็ก ๆ ที่มีที่พักอาศัย ไปรษณีย์ ธนาคาร โรงพยาบาล และ ซูเปอร์มาเก็ตขนาดเล็กของจีนในหมู่เกาะพาราเซลได้รับการจัดตั้งเป็นเมืองแห่งใหม่ล่าสุดของจีนอย่างเป็นทางการในวันนี้ ( 24 ก.ค.) พร้อมแต่งตั้งนายเซียว เจ ผู้อำนวยการหน่วยงานด้านการเกษตรบนเกาะไหหลำให้เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของเมือง ซึ่งเขาระบุว่า การจัดตั้งเมืองเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีน เพื่อปกป้องอธิปไตยของจีน และ การเสริมความเข้มแข็งในการปกป้องและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ

การจัดตั้งเมืองซานชาซึ่งต้องเดินทางโดยเรือ 13 ชั่วโมงจากประเทศจีนเป็นความพยายามของจีนในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซลในทะเลจีนใต้ที่คาดว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันและแหล่งก๊าซ และยังเป็นพื้นที่พิพาทกับอีกหลายฝ่ายทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมทั้งไต้หวัน ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งและความตึงเครียดในทะเลจีนใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งวันนี้มีรายงานว่ากระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์เรียกทูตจีนเข้าไปประท้วง เนื่องจากมีรายงานว่า จีนจะส่งกองทหารรักษาการณ์ไปประจำบนเกาะซานชาด้วย

ปัญหาการอ้างสิทธิเหนือดินแดนและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ของจีน ไต้หวัน และ ชาติในกลุ่มอาเซียนอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน กลายเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสนใจเพราะอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสงบและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของเอเชีย

และยังเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในกลุ่มอาเซียนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุมได้ส่งผลให้การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct ล่าช้าออกไป

เรื่องนี้อินเตอร์เนชั่นนอลไครซิส กรุ๊ป หรือ ICG ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าสังเกตการณ์นโยบายระหว่างประเทศ วิเคราะห์ว่า ขณะนี้จีนกำลังใช้ประโยชน์จากความแตกแยกในกลุ่มอาเซียนด้วยการเลือกปฏิบัติต่อชาติที่สนับสนุนท่าทีของจีนต่อปัญหาในทะเลจีนใต้ และความไม่ลงรอยในอาเซียนที่เกิดขึ้นส่งผลให้โอกาสในการใช้กลไกระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ลดน้อยลง และเสี่ยงจะทำให้ปัญหาในทะเลจีนใต้บานปลายนำไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้นการสะสมอาวุธไปจนถึงความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธได้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง