"ณัฏฐา โกมลวาทิน" ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น

Logo Thai PBS
"ณัฏฐา โกมลวาทิน" ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น

คุณสมบัติสำคัญในวิชาชีพสื่อมวลชนข้อหนึ่งคือการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง และชัดเจน ซึ่งการรายงานข่าวด้วยภาษาไทยที่กระชับ และเหมาะสมของ ณัฏฐา โกมลวาทิน จากไทยพีบีเอส ได้รับเลือกให้เป็น 1 ในผู้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปีนี้

สื่อสารด้วยถ้อยคำ และอักขระที่ชัดเจน ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยหน้าจอ แต่ยังพูด อ่าน เขียน อย่างถูกต้องจนเป็นนิสัย และทำให้คุ้นชินในชีวิตประจำวัน  ทำให้ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2555 เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 

ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ปี 2555 กล่าวว่า การจัดรายการสดจะต้องมีเหตุการณ์ มีข่าวแทรกหรือมีเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนหรือเนื้อหา ถ้อยคำที่เราเตรียมไว้อาจจะไม่สามารถใช้ได้ทันที ตรงนี้ต้องอาศัยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องมีความสำคัญกับการใช้ภาษา การเลือกคำ วางประโยคที่ใช้ กับรางวัลที่ได้ก็ยินดี และภูมิใจมากกับการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ ThaiPBS ทำให้ได้รับรางวัลนี้

ท่วงทำนองไพเราะ เนื้อหามีความหมายกินใจ น้ำตาแสงไต้  เป็น 1 ในเพลงต้นแบบการใช้ภาษาไทย  และได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต ให้กับผู้ประพันธ์เพลงนี้ คือ อำนวย กสัสนิมิ หรือ ครูเนรมิต และผู้ประพันธ์ร่วม ในโครงการเพชรในเพลง ยังมีรางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ซึ่งหลายคนได้รับรางวัลนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น ธงไชย แมคอินไตย์, ยืนยง  โอภากุล, วิรดา วงศ์เทวัญ, หนู มิเตอร์ และ ปาน ธนพร แวกประยูร ซึ่งได้รับรางวัลติดต่อกันเป็นปีที่ 6

ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) ผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง สาขาผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง กล่าวว่า ไม่ว่ามันจะเกิดในโลกไซเบอร์ก็ดี มันเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่จริงๆ เราก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นใหม่ เพียงแต่ว่าสุดท้ายก็ต้องช่วยกันทำให้รู้ว่าแกนหลักของมันคืออะไร หัวใจของมันคืออะไร วันนี้มันอาจจะแตกไปนู่นไปนี่ มันเล่นได้เป็นความสนุกสนาน เพราะถ้าไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมันก็ไม่มีพัฒนาการ

สร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์) ผู้ได้รับรางวัลเพชรในเพลง สาขาผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย กล่าวว่า ถึงเนื้อหาจะเป็นสมัยใหม่ สมัยก่อนเราเขียนจดหมายถึงกัน ปัจจุบันใช้วิธีส่งข้อความ ใช้วิธีเข้าไปแชทในโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เพราะฉะนั้นเพลงลูกทุ่งเราก็เขียนเนื้อหาถึงเรื่องพวกนี้เหมือนกัน แต่ฉันลักษณ์คำคล้องจองเราไม่สูญหายไป อันนี้คือเสน่ห์ลูกทุ่งที่ยังคงไว้อยู่

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมอภิปรายในหัวข้อปัญหาของการใช้ภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2505 โดยทุกปีกระทรวงวัฒนธรรมจะจัดมอบรางวัลให้แก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย นอกจากเป็นกำลังใจให้ผู้มีผลงานด้านภาษาไทยโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ยังหวังให้บุคคลเหล่านี้เป็นตัวอย่างแก่เยาวชนในการใช้ภาษาไทย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง