เปิดความต่างนโยบายมอบตัว "66/23"กับ"ม.21" แนวทางเปลี่ยนสถานะเพื่อกลับสู่สังคม

11 ส.ค. 55
14:45
32
Logo Thai PBS
เปิดความต่างนโยบายมอบตัว "66/23"กับ"ม.21" แนวทางเปลี่ยนสถานะเพื่อกลับสู่สังคม

อุปนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยแนะรัฐบาลให้ใช้โทษสถานหนักกับผู้ก่อเหตุในภาคใต้ ตามกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังเร่งตรวจสอบประวัติ และคดีค้างเก่าของผู้ก่อเหตุ ที่ประสานขอเข้ามอบตัว รวม 40 คนแล้ว แต่การเข้ามอบตัวของผู้ก่อเหตุในภาคใต้ ตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง มีความแตกต่างกับอดีต ที่ใช้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ขอเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามคำสั่ง 66 /23 แม้จะมีเจตนาของการปรับเปลี่ยนสถานะเพื่อกลับสู่สังคมจะเหมือนกันก็ตาม

<"">
<"">

ความพยายามของรัฐบาลเพื่อให้ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้เข้ามอบตัวเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภาคใต้ หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการยื่นข้อเสนอขอเข้ามอบตัวของ 40 ผู้ต้องหาในเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้แท้จริงหรือเป็นเพียงประเด็นเปรียบเทียบทางการเมืองในการแก้ปัญหาภาคใต้ของสองรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในการตอบรับข้อเสนอ แม้พื้นที่ภาคใต้จะมีมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงให้ผู้ก่อความไม่สงบกลับใจเข้ามอบตัวก็ตาม

แนวทางให้ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้เข้ามอบตัวเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงปี 2551 ที่มีสาระสำคัญให้ผู้ก่อเหตุกลับใจเข้ามอบตัว ภายใต้ฐานความผิดที่กำหนดไว้ และเป็นการก่อเหตุในพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เริ่มใช้ใน อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี

ฐานความผิดที่เข้าข่ายให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องความมั่นคงที่กระทบต่อรัฐและความสงบสุขของประชาชน โดยให้กอ.รมน.ดำเนินการตามขั้นตอน และเข้ารับการอบรมไม่เกิน 6 เดือน ล่าสุดมีผู้เข้าสู่กระบวนการของมาตรา 21 จำนวน 2 คน อยู่ระหว่างการอบรมที่ค่ายพระปกเกล้า จ.สงขลา แต่กองทัพภาคที่ 4 ยังมีโครงการสานใจสู่สันติ ให้ผู้ที่กระทำผิดในพื้นที่ต่างๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ หลบหนี ได้เข้ามอบตัวปรับความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่แล้วกว่า 1,400 คน

มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายความมั่นคงว่า นโยบายให้ผู้หลงผิดเข้ามอบตัว และกระบวนการของมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง มีผลต่อยุทธศาสตร์ของเครือข่ายก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะการเปิดทางให้ผู้ก่อความไม่สงบที่เบื่อหน่ายกับการต่อสู้ได้กลับใจเข้ามอบตัว จนการขัดขวางแนวทางดังกล่าว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุรุนแรง เพื่อให้คงพรก.ฉุกเฉินในพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ ทำให้มาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง ยังคงมีข้อจำกัดในการบังคับใช้ ขณะที่อุปนายกฝ่ายสิทธิมนุษยชน สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย เห็นว่า การพิจารณาตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง ต้องพิจารณาในรายบุคคล เพราะผู้ก่อความไม่สงบอาจต้องโทษหนัก

มาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง มีแนวทางคล้ายและแตกต่างจากคำสั่ง 66/23 ที่เคยใช้ได้ผลในการแก้ปัญหาคอมมิสต์ในอดีต ซึ่งคำสั่ง 66/23 เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางด้านการเมือง ซึ่งไม่ได้ทำร้ายประชาชนกลับใจเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่สถานการณ์ภาคใต้ในปัจจุบัน ผู้ก่อเหตุรุนแรงทำผิดกฎหมายบ้านเมือง กระทำต่อทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และคำสั่ง 66/23 ยังครอบคลุมผู้หลงผิดทั่วทุกพื้นที่ แต่มาตรา 21 จำกัดเฉพาะพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเท่านั้น แต่ก็มีเป้าหมายที่คล้ายกัน เพื่อให้ผู้หลงผิดมอบตัวและกลับมาสร้างความสงบร่วมกันอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง