นักวิชาการชี้ "นโยบายรับจำนำข้าว" อาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย

Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ "นโยบายรับจำนำข้าว" อาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย

นักวิชาการบางรายเห็นว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล มุ่งเน้นยกระดับราคาเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนในระยะยาว สุดท้ายจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย

การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลแม้ว่าด้านหนึ่งจะต้องการเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่ถอยห่างจากหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่รัฐควรจะพัฒนาการผลิตและการค้าข้าวของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นเรื่องของการยกระดับราคาเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้มองถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนในระยะยาวซึ่งนักวิชาการบางรายนั้นมองว่าสุดท้ายจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย

เสียงสะท้อนจากชาวนาต่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่เดินหน้ามาเกือบครบ 1 ปี หลายคนบอกว่ารู้สึกพอใจกับราคาข้าวที่สูงขึ้นแต่ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตค่าใช้จ่ายของพวกเขาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่เพียงระยะสั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ขณะที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ให้ความเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลผลที่เห็นได้ชัดเจนคือการมุ่งยกระดับราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน

แม้ว่าในระยะสั้นจะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่เคยกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายสำหรับอุตสาหกรรมข้าวไทย 

รศ.สมพร ยังเห็นว่ารัฐบาลควรใช้งบประมาณ 200,000-300,000 ที่ลงในโครงการรับจำนำ ไปสนับสนุนชาวนาในด้านอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น การสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี การลงทุนสร้างระบบชลประทาน

ปัจจุบันมีเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 6,000,000 ครัวเรือน ในจำนวนนี้ประกอบอาชีพทำนาประมาณ 4,000,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรายงานว่า ในโครงการรับจำนำข้าว 2554/2555 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพียง 1,200,000 ราย จากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกว่า 3,000,000 ราย

ซึ่ง รศ.สมพร เห็นว่า มีเกษตรกรเพียงกลุ่มน้อยที่ได้ประโยชน์ โดยเสนอทางออกว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรับจำนำต่อไปควรปรับวิธีการรับจำนำใหม่ โดยช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะกลุ่มที่ยากจนหรือมีที่นาต่ำกว่า 20 ไร่ ซึ่งเป็นชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ หรือจำกัดปริมาณผลผลิตที่เข้าโครงการรับจำนำต่อครัวเรือน รัฐควรวางแผนการตลาดข้าวที่ดีในการส่งออกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และร่วมมือกับเอกชนทำตลาด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง