ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นชม.ละ 2 ซม. เพราะรับน้ำมาจากจีน-ลาว ขณะที่ ปภ.หนองคาย เฝ้าติดตาม 24 ชม.

ภูมิภาค
25 ส.ค. 55
09:22
6
Logo Thai PBS
ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นชม.ละ 2 ซม. เพราะรับน้ำมาจากจีน-ลาว ขณะที่ ปภ.หนองคาย เฝ้าติดตาม 24 ชม.

ระดับน้ำโขงมีปริมาณสูงเพิ่มขึ้น เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร เป็นผลมาจากน้ำเหนือประเทศจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ไหลลงมาสบทบ จ.หนองคาย แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ใกล้ริมน้ำ ต้องติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ขณะนี้อยู่ที่ 11 เมตร 25 เซนติเมตร ห่างจากระดับวิกฤตอยู่ 1 เมตร ซึ่งระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร สาเหตุเพราะน้ำเหนือจากประเทศจีนและลาวยังไหลลงมาสมทบอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.หนองคาย แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากหากมีพายุในพื้นที่อาจทำให้ระบายน้ำไม่ทัน และจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเหมือนเหมือนปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังพบว่าฝายยาง บ้านแก้งสนามนาง ต.โนนสำราญ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา ชำรุดเนื่องจากแผ่นยางที่ใช้รองน้ำฉีกขาด ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ 2 อำเภอ ของจ.นครราชสีมา คือ อ.แก้งสนามนางและอ.บัวใหญ่ รวมถึงบางอำเภอในจ.ชัยภูมิ ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและไม่มีน้ำในการเกษตร นาข้าวได้รับผลกระทบกว่า 30,000 ไร่

นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมประสานให้หัวหน้าหน่วยโครงการส่งน้ำและพัฒนาบำรุงรักษาพัฒนากลุ่มน้ำชีตอนบน ของบฉุกเฉินจากอธิบดีกรมชลประทาน เพื่อซ่อมแซมฝายยางโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ขณะที่จังหวัดทางภาคเหนือ ชาวบ้านที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ในพื้นที่ต.ไผ่รอบ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ตระเวนเกี่ยวข้าวในแปลงนา ที่เจ้าของปล่อยทิ้งร้างไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเกรงว่าน้ำจากแม่น้ำยม และ แม่น้ำน่าน ไหลเข้าท่วม โดยชาวบ้านจะนำข้าวไปเป็นบริโภค และเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะเป็ดหรือไก่ เพื่อเตรียมสถานการณ์น้ำท่วมหลากที่กำลังจะมาถึง

ที่จ.ตาก นายมงคล สัณฐิติวิฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจ.ตาก สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมถนน ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และดินสไลค์ โดยเฉพาะถนนสายแม่สอด - อุ้มผาง และถนนสายแม่สอด - ท่าสองยาง ที่ได้รับความเสียหายหลายจุด เพื่อไม่ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่สัญจรไปมาได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่บางพื้นที่ของจ.นครสวรรค์ ยังคงประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง โดยเกษตรกรสวนผัก ในตำบลบึงเสนาท ต้องสูบน้ำจากลำคลอง ขึ้นมารดสวนผัก หลังพบว่าฤดูฝนปีนี้ มีฝนตกน้อยจนไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผักขายไม่ได้ราคา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง