นักวิชาการด้านวิศวกรรมสถานห่วงแผนจัดการน้ำของรบ.

เศรษฐกิจ
2 ก.ย. 55
08:21
47
Logo Thai PBS
นักวิชาการด้านวิศวกรรมสถานห่วงแผนจัดการน้ำของรบ.

เเม้รัฐบาลจะเดินหน้าเเผนเเม่บทการบริหารจัดการน้ำ 8 โครงการมาได้ระดับหนึ่งเเล้ว เเต่ยังคงมีความเป็นห่วงจากนักวิชาการด้านวิศวกรรม ถึงการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เเนะว่ารัฐบาลควรระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการ เพื่อให้เงินที่ลงทุนเกิดผลประโยชน์มากที่สุด

เเผนบริหารจัดการน้ำภายในวงเงินกว่า 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลวางกรอบการทำงานไว้ 8 โครงการ มีความเห็นจากนักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่า รัฐบาลไม่ควรเร่งเดินหน้าโครงการจนเกินไป แต่ต้องระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เพราะแผนแม่บทที่ดีควรครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำ ทั้งพร้อมรับมือกับน้ำท่วมเเละภัยเเล้ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เเสดงความเป็นห่วงว่า หากบริษัทที่ประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำไม่สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ เพราะติดอุปสรรคต่างๆ เช่น การไม่ร่วมมือจากชุมชนหรือโครงการไม่ผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลขาดการศึกษาผลกระทบในมิติต่างๆ รัฐบาลอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และประชาชนก็จะกลายเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด

ดังนั้นรัฐบาลควรทำแผนจัดการน้ำระยะสั้น 2-3 ปี ที่สามารถทำได้ทันที และไม่ก่อก็ให้เกิดผลกระทบหรือผิดกฎหมายก่อน แล้วแยกโครงการในแผนระยะยาว เช่น การสร้างเขื่อน โดยที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบหรือเป็นเจ้าภาพ ในการบริหารจัดการน้ำทั้ง 8 โครงการ รวมทั้งจัดตั้งสถาบันวิจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำขึ้นโดยตรง และตั้งหน่วยงานศูนย์รวมข้อมูลเรื่องทรัพยากรและน้ำขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับเเผนบริหารจัดการน้ำที่บริษัทเอกชนทั้งไทยเเละต่างชาติร่วมประมูลจำนวนมาก นายสุเมธ สุรบถโสภณ
รองประธานบริหารบริษัทอิตาลีเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ให้ความสนใจงานออกแบบและก่อสร้างโครงการจัดการตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษ โดยบริษัทกำลังเร่งหารือกับบริษัทร่วมทุนที่ปรึกษาแต่ละด้าน ทั้งการจัดการน้ำ ระบบป้องกัน และระบบเตือนภัย ทั้งกับบริษัทไทยและจีน

คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นเดือนนี้ พร้อมยื่นเอกสารคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมประมูลงานออกแบบและก่อสร้างแน่นอน เช่นเดียวกับผู้บริหารจากบริษัทเค วอร์เตอร์ รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงที่ดินการขนส่งทางบกและทางน้ำ ของประเทศเกาหลีใต้ ที่สนใจดำเนินงานทุกโครงการ โดยจะใช้ประสบการณ์ที่เคยเข้าร่วมประมูลงานกับรัฐบาลไทย และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการมวลชนเป็นจุดเด่นแสดงศักยภาพ แต่ยอมรับว่าบริษัทยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยง หากรัฐบาลไทยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้างได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง