เสียงจากคนไทยในการเลือกตั้งอังกฤษ 2015

ต่างประเทศ
4 พ.ค. 58
00:32
913
Logo Thai PBS
เสียงจากคนไทยในการเลือกตั้งอังกฤษ 2015

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอนให้ข้อมูลว่าจากสถิติคนไทยที่ติดต่องานด้านกงสุลที่สถานเอกอัครราชทูตคาดว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรจำนวน 36,000 คน ซึ่งนับได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในทวีปยุโรป ในจำนวนนี้หลายคนได้รับสัญชาติอังกฤษและมีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นวันที่ 7 พ.ค.2558 นี้ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์คนไทยในสหราชอาณาจักรในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งว่าจะเลือกพรรคใด และเพราะอะไร

ข้อมูลของสถานทูตระบุด้วยว่า คนไทยส่วนใหญ่ประมาณ 20,000 คน เป็นแรงงานทำงานอยู่ที่ร้านอาหารไทยซึ่งมีอยู่มากถึง 1,000 ร้านทั่วสหราชอาณาจักร คนไทยอีกส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนทั้งในระดับประถมถึงระดับปริญญาเอกจำนวนประมาณ 4,300 คน ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพส่วนตัวและอยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ  นอกจากนี้ ยังมีคนไทยที่สมรสกับคนบริติชและมีบุตรธิดาที่ถือสองสัญชาติจำนวนมาก

เสียงจากสกอตแลนด์ : หนุน SNP แต่ไม่ต้องการแยกเป็นอิสระ
ยงยุทธ สวยงาม เจ้าของร้านอาหารลานนาไทยในกรุงเอดินเบอระ สกอตแลนด์และประธานสมาคมคนไทยในสกอตแลนด์ ซึ่งทำธุรกิจในสกอตแลนด์มากว่า 20 ปีกล่าวว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเขาเลือกพรรค Scottish National Party หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าพรรค SNP และในปีนี้เขาก็คิดว่าจะเลือกพรรค SNP อีกครั้งหนึ่งแม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแยกตัวเป็นอิสระของ สกอตแลนด์ ซึ่งเป็น "ธงนำ" ของพรรคนี้ก็ตาม

"ผมเลือกพรรค SNP เพราะอยากให้เป็นฐานเสียงของสกอตแลนด์ เราต้องการฐานเสียงในสภาฯ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของสกอตแลนด์ เป็นกระบอกเสียงให้ชาวสกอตแลนด์ เลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเลือกพรรค SNP อีก แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีการลงประชามติแยกสกอตแลนด์ออกจากอังกฤษ ซึ่งในการลงประชามติเมื่อปีที่แล้ว ผมก็ vote no คือไม่เห็นด้วยกับ

การแยกตัวเป็นอิสระ เพราะสกอตแลนด์ยังไม่พร้อมที่จะแยกเป็นอิสระ" ยงยุทธกล่าว

                              

<"">

อารยา เพตัน พนักงานเสิร์ฟแบบพาร์ทไทม์ของร้านลานนาไทย เป็นอีกคนหนึ่งที่มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ อารยาแต่งงานกับชาวสกอตแลนด์และอยู่ในเอดินเบอระมา 6 ปีแล้ว เธอบอกว่าชอบพรรค SNP เป็นพิเศษ เพราะเป็นพรรคของคนสกอตแลนด์

"ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสกอตแลนด์และรักที่นี่มากจึงอยากสนับสนุน พรรคของคนสกอตแลนด์ และอยากให้นิโคลา สเตอร์เจียน (หัวหน้าพรรค SNP) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นหน้าที่เป็นตาของคนที่นี่ รวมทั้งจะได้มีนโยบายที่ช่วยเหลือคนสกอตแลนด์" อารยากล่าว แต่เธอเองก็ไม่สนับสนุนการแยกสกอตแลนด์เป็นอิสระ ซึ่งในการลงประชามติเรื่องแยกสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว เธอได้ลงคะแนนไม่แยกประเทศ

อารยาเล่าถึงความประทับใจที่ได้พบนิโคลา สเตอร์เจียน ตัวจริงขณะที่หัวหน้าพรรค SNP ไปหาเสียงที่โรงแรมที่อารยาเป็นพนักงานประจำอยู่ อารยาอวดรูปที่สเตอร์เจียนถ่ายรูปคู่กับเธออย่างภาคภูมิใจ

เจ้าอาวาสวัดไทยเตรียมตัวไปเลือกตั้่ง
พระครูสิริธรรมประทีป เจ้าอาวาสวัดธรรมปทีป ซึ่งเป็นวันไทย 1 ใน 3 แห่งที่ตั้งอยู่ในสกอตแลนด์ให้ข้อมูลว่าหลังจากที่ได้เป็นพลเมืองอังกฤษแล้ว ทางการก็มีจดหมายแจ้งให้ไปเลือกตั้ง ท่านจึงเป็นพระไทยรูปเดียวในสก็อตแลนด์ที่มีสิทธิเลือกตั้ง

ในฐานะชาวเมืองสกอตแลนด์คนหนึ่ง พระครูสิริธรรมประทีปมองว่า ประชาชนนำเรื่องการแยกตัวของสกอตลนด์มาเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในการ ตัดสินใจ แต่สำหรับชุมชนคนไทย ประเด็นที่คนสนใจมากที่สุดก็คือนโยบายเกี่ยวกับชาวต่างชาติ

เมื่อถามว่าประเทศไทยจะเรียนรู้อะไรจากระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษได้บ้าง เจ้าอาวาสวัดไทยมองว่าต้องเริ่มจากการปลูกฝังแนวคิดว่าบุคคลทุกคนเท่าเทียม กันและมองว่าทุกคนมีความเป็นมนุษย์เสมอกันทุกคนซึ่งเป็นหลักคิดสำคัญของคนสห ราชอาณาจักร

เสียงจากลอนดอน : เลือกพรรคแรงงานเพราะทำให้คนมีความเท่าเทียมกัน
สุชีรา มาไกวร์ อายุ 37 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวบีบีซี แผนกภาษาไทย สุชีราอยู่ที่ประเทศอังกฤษมา 10 ปีและเพิ่งได้สัญชาติเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้เธอมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ เธอบอกว่ารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นพลเมืองของอังกฤษและเป็นเสียงหนึ่งที่มีสิทธิในการกำหนดนโยบายของประเทศ

เมื่อถามว่าเธอจะลงคะแนนให้พรรคใด สุชีราตอบอย่างไม่ลังเลว่า "พรรคแรงงาน" เพราะเห็นว่านโยบายของพรรคนี้ทำให้ชีวิตคนมีความเท่าเทียมกันในระดับที่น่าพอใจ

"สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษก็คือ เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่เสมอไป เพราะรัฐได้จัดสวัสดิการที่เป็นหลักประกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้เราระดับหนึ่งแล้ว เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยเพื่อมีเงินไปหาหมอที่ดีที่สุด เราไม่จำเป็นต้องให้ลูกไปโรงเรียนที่แพงๆ เพราะการศึกษาหรือสาธารณสุขถูกคุ้มครองโดยรัฐอยู่แล้ว ซึ่งพรรคแรงงานเขามีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้ เราไม่อยากได้รัฐบาลที่จะตัดงบประมาณอุดหนุนด้านการศึกษาเพื่อเอาเงินไปใช้ด้านอื่นที่เราไม่รู้สึกว่าทำให้ชีวิตโดยรวมดีขึ้น จึงได้รัฐบาลจากพรรคที่ไม่ได้มุ่งให้คนมีความสุขเพราะเงิน" สุชีราแสดงความเห็น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สุชีรามองว่ายังเป็นปัญหา คือ การที่อังกฤษเริ่มปิดกั้นคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในอังกฤษมากขึ้น ซึ่งเรื่องการรับมือกับชาวต่างชาติที่แห่กันเข้ามาทำงานและอยู่ในอังกฤษเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนของการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้

                             

<"">

สุชีรากล่าวว่า ระยะหลังมานี้คนต่างชาติที่มาอยู่ที่นี่ต่อวีซ่าได้ยากขึ้นมาก รัฐมีการตั้งกำแพงและกฎเกณฑ์เพื่อให้คนต่างชาติเข้ามาอยู่ที่นี่น้อยลงหรืออยู่ได้ยากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้เขาเข้ามาเป็นมันสมองของประเทศ 

"รู้สึกเหมือนกันว่าเขาระแวงและระวังกับชาวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายในอดีตที่รัฐบาลอังกฤษเคยทำมา ประกอบกับการที่่มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เข้าใจว่ารัฐก็มองเรื่องสิทธิประโยชน์ คือ ถ้ามีคนต่างชาติเข้ามามากจะมาใช้สวัสดิการของรัฐที่นี่  ซึ่งในความเป็นจริงมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับการดูแล ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะทำลายอังกฤษ รู้สึกเหมือนกันว่านักการเมืองมีทัศนะคติค่อนข้างลบต่อคนต่างชาติที่มาอยู่"

นักศึกษาไทยถูกใจพรรคอนุรักษ์นิยม
แม้จะไม่มีสิทธิเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร ภัทรพล สาส์นธรรมบท นักศึกษาภาควิชานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระบอกว่า ถ้าเขามีสิทธิเลือกเขาจะเลือกพรรคอนุรักษ์นิยม เพราะติดใจความเป็นผู้นำของเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรค ส่วนผลการเลือกตั้งนั้นภัทรพลวิเคราะห์ว่าน่าจะได้รัฐบาลผสม โดยพรรคอนุรักษ์นิยมจะจับมือกับพรรค Liberal Democrats เหมือนเดิม

"คิดว่าน่าจะเป็นรัฐบาลผสมเหมือนเดิม เพราะที่อังกฤษตอนนี้ยังไม่เห็นว่าพรรคแรงงานจะทำได้ดีกว่าเดิม นโยบายยังไม่น่าสนใจพอ ส่วนพรรค SNP คงจะมีแต่คนสกอตเลือก เพราะฉะนั้นเสียงก็คงไม่ขาด" นักศึกษาไทยให้ความเห็น

ภัทรพลบอกว่าการคนไทยควรสนใจและศึกษาการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร เพราะประเทศไทยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบอังกฤษหรือ "เวสมินเตอร์โมเดล" โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ

ภัทรพลกล่าวว่า "สิ่งที่ประเทศไทยควรเรียนรู้จากระบบการเมืองอังกฤษคือ ไม่ว่าอังกฤษจะทำอะไรก็ตาม จะเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชน เวลาออกแบบระบบอะไรก็ตามจะคิดอย่างซับซ้อนมาก เช่น ระบบบริการสาธารณสุข หรือ NHS มีการเจรจากันนานมาก ต่อรองกันแทบทุกพรรคการเมืองก่อนที่จะได้กฎหมายตัวนี้ออกมา มันมีโครงสร้างการตรวจสอบถ่วงดุลกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนึกจะทำโครงการอะไรก็ทำได้ เวลาจะทำโครงการอะไรต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย


กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานจากสหราชอาณาจักร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง