"ประชันงิ้ว" กลยุทธเรียกความสนใจให้คนหันกลับมาดู

Logo Thai PBS
"ประชันงิ้ว" กลยุทธเรียกความสนใจให้คนหันกลับมาดู

ท่ามกลางสื่อบันเทิงที่มีหลากหลาย งิ้ว ศิลปการแสดงเก่าแก่ก็ต้องเสื่อมความนิยมไปตามยุค จนเหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะ ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะงานจ้างตามศาลเจ้า และงาน ประชันก็ถือเป็นเวทีอวดฝีมือของคณะงิ้ว และเป็นอีกวิธีเรียกความสนใจให้ผู้คนหันกลับมาดูงิ้วกันมากขึ้น

การดึง คนดูด้วยเสียงร้อง และการเดินเรื่องที่กระชับ รวมถึงความอลังการของชุดและฉาก งิ้วชุดกวนอูจั๋มจื้อ หรือ กวนอูประหารบุตร ตำนานความเที่ยงตรงในคุณธรรมของเทพผู้เป็นที่นับถือของชาวจีน แสดงโดยคณะงิ้วดัง "แชลั่งเง็กเล่าชุน" มีผู้ชมแน่นโรงกว่า 400 คน ขณะที่ "เล่าตงเจี่ยสูงเฮง"คณะประชันสู้ด้วยจังหวะดนตรีที่หนักแน่นในฉากบู๊ เล่าการต่อสู้ของเหล่าเซียน ในเรื่อง โป้ยเซียนป๋อฮั่วตัว หรือ 8 เซียนข้ามทะเล มีผู้ชมน้อยกว่าครึ่ง จำนวนคนดูที่แตกต่างบอกได้ถึงความนิยม และยังวัดผลแพ้ชนะในการประชันงิ้ว 2 โรง ในงานไหว้เจ้าประจำปีของศาลเจ้าปู่บู้เต็กโฮ้ว ต้นตระกูลแซ่ซิ้ม

"พอมีงิ้วแข่งกันคนก็มาชมเยอะขึ้น ผมเลยเปรียบเทียบว่า จ้างงิ้วคณะละ 50,000 บาท มีคนดูแค่ 30คน ตกคนละ 1,500 แต่ถ้างิ้วแข่งกัน จ้างมาคณะละ 90,000 บาท 2 คณะ 180,000 แปด แต่คนมาดู 700 คน ทำให้ศาลเจ้าให้ความสำราญแก่วงชาวจีนในแถวธนบุรี" ธนเสฏฐ์ ศุภศรีสรรพ์  ประธานศาลเจ้าแซ่ซิ้ม กล่าว

ด้านนันทพร ศรีสุวรรณาภรณ์ ผู้ชมงิ้ว กล่าวว่า ชอบดูงิ้วเพราะได้ความบันเทิง และเนื้อเรื่องที่สอนคุณธรรมว่าคนไม่ดีก็อยู่ไม่ได้

แม้ ทุกวันนี้การแสดงงิ้วจะลดความนิยมลง แต่เมื่อมีการประชันงิ้วเกิดขึ้น ทำให้นักแสดงจากทั้ง 2 คณะตั้งใจแสดงเพื่ออวดฝีมือกัน ทำให้บรรยากาศคึกคัก เป็นอีกวิธีในการเรียกผู้คนให้ออกมาดูงิ้วกันมากขึ้น

"แช ลั่งเง็กเล่าชุน" และ "เล่าตงเจี่ยสูงเฮง" มีอายุไม่น้อยกว่า 80 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของงิ้วไม่กี่คณะที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ทุกวันนี้งิ้วอยู่ได้ด้วยงานจ้างตามศาลเจ้า และแสดงในช่วงงานเทศกาลต่างๆของชาวจีน อุปสรรคที่ทำให้งิ้วเสื่อมความนิยม คือชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ไม่รู้ภาษาจีน ที่สำคัญมีสื่อบันเทิงเป็นทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น 

<"">
<"">

 

พงศกร อนันต์กวิน เจ้าของคณะงิ้วแชลั่งเง็กเล่าชุนคิดว่าสื่อโทรทัศน์ วีซีดี มีส่วนให้คนรุ่นใหม่ดูโทรทัศน์ดูอะไรมากขึ้น จึงไม่สนใจการดูงิ้ว  ณ เวลานี้ ศาลเจ้าที่ยังแสดงงิ้วอยู่ เพราะถือว่าเคยแสดงมาทุกปี คณะกรรมการจะสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เจ้าได้ดูงิ้วทุกปี ถือเป็นการขอบคุณเจ้า

ขณะที่ชูรวง แซ่ตั้ง นักแสดงงิ้ว กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้คนไม่ดูงิ้ว คนแก่ก็ไปไหว้พระ วัยรุ่นก็ไม่ชอบดูงิ้ว ไปดูอะไรก็ไม่รู้ แต่เราอยากให้พวกน้องๆพี่ๆส่งเสริมงิ้วขึ้นมา มันเป็นของสมัยก่อนของพ่อแม่เรา อย่าให้มันหายไป"

19.00-24.00 น. คือ ช่วงเวลาแสดงงิ้วประชัน ซึ่งเสน่ห์ของงิ้วอยู่ที่ศิลปะการร้อง และทุกเรื่องจะ สอดแทรกข้อคิดคุณธรรม  แม้มีผู้ชมส่วนหนึ่งชื่นชอบติดตาม แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก  ทำให้งิ้วหลายคณะต้องปรับตัวด้วยรูปแบบการแสดงที่ตื่นตามากขึ้น โดยนำกายกรรม และระบำ มาสร้างสีสันเรียกความสนใจ

เวทีประชันงิ้ว เช่นที่ศาลเจ้าแซ่ซิ้ม  ไม่เพียงจัดการแสดงเพื่อบูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ แต่ยังหวังเป็นส่วนหนึ่งใน การอุปถัมภ์การแสดงอันเป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพชนให้สืบทอดต่อไป ท่ามกลางผู้ชมที่ลดน้อยถอยลงทุกที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง