"จักรยาน"กุญแจสำคัญแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่

23 ก.ย. 55
14:20
219
Logo Thai PBS
"จักรยาน"กุญแจสำคัญแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่

กิจกรรม "คาร์ฟรีเดย์" วันนี้ (23 ก.ย.) เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดใช้พลังงานจากรถยนต์ ซึ่งในปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร นับเป็นเมืองใหญ่ที่มีรถติดเป็นอันดับ 3 ของโลก ดังนั้นในหลายปีที่ผ่านมา จึงมีการมองว่า "จักรยาน" น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ในการนำมาใช้ในชีวิตประจำ แต่ปัญหาปัจจุบัน ก็คือโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่มีความสมดุล หรือ เอื้ออำนวยต่อผู้ปั่น

<"">
<"">

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเอง ทั้งเมืองหลวง และเมืองใหญ่ ๆ ก็นับว่ามีประชากรจำนวนมาก และเคยปัญหาวิกฤตจราจรเช่นกัน แต่เมื่อรัฐใส่ใจ รณรงค์ให้ประชาชนใช้จักรยาน และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนต่อจักรยาน ก็แก้ปัญหารถติดได้อย่างชัดเจน และทำให้เห็นว่าจักรยานกับเมืองใหญ่ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

ญี่ปุ่น เป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 7 ด้วยจำนวน 72,500,000 จากจำนวนประชากรที่มากกว่า 127 ล้านคน หรือร้อยละ 57และพบว่า ยอดจำหน่ายยานพาหนะประเภทนี้ ยังเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 10,000,000 คัน

<"">
<"">

ผู้คนส่วนใหญ่ เลือกใช้จักรยานเพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสถานีรถไฟ รถไฟฟ้า หรือ สถานที่ใกล้เคียง โดยเลนสำหรับจักรยานจะใช้บาทวิถี ซึ่งแบ่งคนละครึ่งกับพื้นที่คนเดินเท้า ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนน ตามสี่แยก หรือ ซอยต่างๆ จะถูกสร้างเป็นทางลาดให้มีระดับเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการปั่น ขณะที่จุดจอดจักรยาน ก็มีที่ล็อกรถไว้ให้เช่นกัน

แม่บ้านชาวญี่ปุ่นอายุ 47 ปี เล่าว่า เธอเริ่มขี่จักรยานมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ สมัยก่อน ค่าครองชีพที่สูงทำให้การซื้อรถยนต์เป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบัน แม้จะมีรายได้พอสำหรับซื้อรถยนต์ แต่ต้องการมีสุขภาพที่ดีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม กว่าที่จักรยานจะอยู่ร่วมกับรถยนต์ในเมืองใหญ่อย่างเป็นระเบียบและสมดุลเช่นทุกวันนี้ ก็ต้องอาศัยการออกกฎหมายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อบังคับใช้กับจักรยานโดยเฉพาะ เช่น การกำหนดช่องให้ขี่ , การห้ามขี่บนท้องถนน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกับรถยนต์ หรือหากจะข้ามถนน หรือสี่แยก ก็ต้องใช้ทางม้าลาย ร่วมกันคนเดินเท้า โดยมีการตีช่องให้จักรยานไว้ด้วยเช่นกัน ส่วนสถาบันการศึกษาก็มีความสำคัญ ในการถ่ายทอดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการขี่จักรยานในญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง ให้กับเด็กๆ

ดิษพร สีลกันตสูติ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น เล่าว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ และจักรยานยนต์หลายยี่ห้อ แต่ผู้คนก็นิยมขี่จักรยานจำนวนมากเมื่อเทียบกับจักรยานยนต์แต่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีรถติด เป็นอันดับ 3 ของโลก

แม้ทุกปี จะมีกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ เพื่อประหยัดพลังงานแต่ก็พบว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ ล่าสุด มีจำนวนรถยนต์มากถึง 7,000,000 คัน เกินกว่าศักยภาพของถนนที่รองรับได้ถึง 4 เท่าและแม้ความต้องการของผู้ใช้จักรยานจะเพิ่มขึ้นทุกปีแต่จักรยานที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต้องจ่ายภาษีนำเข้า มากถึงร้อยละ 40 ต่างจากโครงการรถยนต์คันแรกตามนโยบายรัฐบาล ที่มีการคืนภาษีให้ผู้ซื้อ

ขณะที่การปั่นถีบในบางเส้นทางเห็นได้ชัดว่ามีอุปสรรคทั้งเสาไฟฟ้า และร้านค้าที่ตั้งโต๊ะขวางทาง และบางพื้นที่ผิวทาง ที่ไม่เอื้ออำนวยและหากจะต้องลงมาปั่นบนท้องถนนก็ถูกมองว่าไปแย่งพื้นที่รถยนต์ และเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ง่าย
หรือแม้แต่เฉพาะเส้นทางสำหรับจักรยาน ซึ่งกรุงเทพมหานคร สร้างไว้สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ ก็ยังไม่ครอบคลุมแต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญคือ ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งที่กรุงเทพมหานคร มีศักยภาพพอ

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แม้รัฐบาลจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าให้เกิดขึ้น 10 เส้นทางครอบคลุมกรุงเทพฯชั้นใน และปริมณฑล แต่การพิจารณาพื้นที่สำหรับจักรยานนั้น ยังขาดความชัดเจน แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า อนาคตพื้นที่สำหรับพาหนะประเภทนี้ จะเป็นตัวเลือกที่สำคัญสำหรับคนกรุงเทพฯ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง