ลุยแม้น้องน้ำมา “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17” กับทัพหนังสือ เตรียมมุ่งสู่ประชาคมอาเซียน

สังคม
3 ต.ค. 55
09:24
38
Logo Thai PBS
ลุยแม้น้องน้ำมา “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17” กับทัพหนังสือ เตรียมมุ่งสู่ประชาคมอาเซียน

 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เตรียมจัดงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 (Book Expo Thailand 2012)” อย่างยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่ 18-28 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสนุกของการอ่าน ยิ่งอ่าน ยิ่งเป็นผลดีทั้งต่อตัวเองและสังคม จำลองบรรยากาศ “อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี” ทั่วทั้งบริเวณงาน และมีสำนักพิมพ์ชั้นนำทั่วประเทศร่วมออกงานมากถึง 425 สำนักพิมพ์ รวมกว่า 1,000 บูท 

 
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่าการที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 2558 ได้อย่างมั่นคงนั้น จะต้องปูพื้นฐานความรู้ของคนไทยในทุกภูมิภาคให้เข้มแข็งเสียก่อน โดยเฉพาะความรู้ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน ทว่าจากผลวิจัยการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554  จากจํานวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 53,000 ครัวเรือน พบว่าอัตราการอ่านในเขตเทศบาล ร้อยละ77.7 สูงกว่านอกเขตเทศบาล ร้อยละ 61.2 โดยเด็กเล็กในกรุงเทพมหานครมีอัตราการอ่านสูงสุด ร้อยละ 67.2 และเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ขณะที่ภาคกลางนั้นเด็กเล็กมีอัตราการอ่านหนังสือต่ำสุด ร้อยละ 47.4  และเชื่อว่ามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์และเทคโนโลยี
 
ขณะที่อัตราการอ่านนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงานของคนไทยที่อายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไปมีอัตราการอ่านร้อยละ 68.8 โดยผู้ชายอ่านร้อยละ 69.3 ส่วนผู้หญิงอ่านร้อยละ 68.3 และกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่มีการอ่านมากที่สุด คือร้อยละ 89.3 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีอัตราการอ่านหนังสือต่ำที่สุดคือ ร้อยละ 62.8
 
ส่วนจำนวนเวลาที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนและนอกเวลาทำงานคือผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 40-41 นาทีต่อวันมากกว่าวัยทำงานและสูงอายุที่ใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 31-32 นาทีต่อวัน
 
“ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการอ่านที่แตกต่างและสัมพันธ์กับระดับความเจริญทางเศรษฐกิจ หรือพูดอีกนัยหนึ่งพื้นที่ที่เศรษฐกิจดีหรือครอบครัวที่ฐานะดีมีการอ่านมากกว่าในพื้นที่เศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ว่าอัตราการอ่านภาคนอกเกษตรสูงร้อยละ 76.5 ในขณะที่ภาคเกษตรมีอัตราการอ่านเพียงร้อยละ47.3 ย่อมยืนยันว่า สังคมชนบทไทยยังอ่านหนังสือน้อยมาก มีคนที่ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือไม่ถึงครึ่ง”
 
นายวรพันธ์กล่าวว่าการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้จึงมีแนวคิดหลักคือ “อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี”เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความแตกต่างในพฤติกรรมการของสังคมไทยว่ามีความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาอย่างทั่วถึง
 
มีข้อสังเกตเพิ่มถึงลักษณะร่วมของการอ่านในกลุ่มประเทศอาเซียนคือเด็กที่มาจากครอบครัวมั่นคงมักมีโอกาสเข้าถึงหนังสือ, โรงเรียนมีคุณภาพ หรือห้องสมุดดีๆ มากกว่าเด็กจากครอบครัวยากจนหรือด้อยทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โครงการภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการอ่านส่วนใหญ่เกิดในเมืองใหญ่และยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ขาดแคลน ดังนั้นการพัฒนาคนให้พร้อมสู่ AEC รัฐจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมุ่งส่งเสริมพื้นที่ขาดแคลน ตามแนวคิดเติมในส่วนของพื้นที่ที่ขาดและเป็นจุดอ่อนของปัญหาระยะยาว
 
 นายวรพันธ์กล่าวว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและทำกิจกรรมต่างๆเ พื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านมาโดยตลอด เห็นถึงความสำคัญของการอ่านในพื้นที่ขาดแคลนอย่างยิ่งจึงมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์หนังสือภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ และเป็นประเด็นที่ทำให้เห็นว่าสาเหตุที่การอ่านในภูมิภาคต่างๆไม่เติบโตมากนักเมื่อเทียบกับส่วนกลาง เป็นเพราะหนังสือเข้าไปไม่ถึงผู้อ่านมากกว่าความไม่อยากอ่าน งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17” ครั้งนี้จึงมีแนวคิด “อ่านทั่วไทย อ่านได้ อ่านดี” ไทยจะโตแค่ส่วนกลางเท่านั้นไม่ได้ การอ่านที่จะช่วยให้ประเทศชาติมั่นคงและเข้มแข็งมากพอที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้นั้น จะต้องเป็นการอ่านทั้งประเทศ 
 
นอกจากนี้ ในงานยังมี นิทรรศการเกี่ยวกับโครงการหนังสือพระตำหนักดอยตุง "มองบ้านเพดานดาว"  โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ,นิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบของนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นิทรรศการ “หนังสือไทยก้าวไกลสู่ตลาดโลก” จัดแสดงหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆในประเทศไทยที่ได้ขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศ  โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ,นิทรรศการและกิจกรรมกรุงเทพมหานคร เมืองหนังสือโลก 2556 (World Book Capital 2013)  โดยกรุงเทพมหานคร 
 
นิทรรศการหนังสือเรื่องสั้น โครงการ “เล่าเรื่องโกง”  โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ,นิทรรศการนำเสนอผลงานนักเขียนรุ่นใหม่และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ที่สำคัญจะมีนิทรรศการหนังสือวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณี  โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และนิทรรศการภาพประกอบ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่นักวาดภาพประกอบชื่อดังและดาวรุ่งในเมืองไทยได้ร่วมกันแสดงงานภาพประกอบกว่า 200 ภาพบนกำแพงยาวอีกด้วย
 
               


ข่าวที่เกี่ยวข้อง