กมธ.ยกร่างฯ ปัดตั้งเครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญ

การเมือง
5 พ.ค. 58
15:58
148
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างฯ ปัดตั้งเครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาปฏิเสธการสร้างเครือข่ายป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกแก้ไขโดยเร็วแต่ชี้แจงว่า การเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญทั้งทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียขณะนี้ ก็เพื่อให้ข้อมูลต่อประชาชนเท่านั้น

บทสุดท้าย ของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นล็อคแรกที่มีเจตนาปกป้องรัฐธรรมนูญให้แก้ยากขึ้นจากอดีตนั่นเพราะบทนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ การแก้ไขไม่ได้,การแก้ไขโดยกระบวนการรัฐสภาและการแก้ไขโดยกระบวนการรัฐสภาและต้องทำประชามติ

ซึ่งสาระสำคัญเริ่มจากมาตรา 299 บัญญัติไว้ว่า ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐได้ และส่วนที่ 2 คือ มาตรา 300 บัญญัติไว้ว่า การแก้ไข บททั่วไป ในภาคที่ 1  เรื่องพระมหากษัตริย์และประชาชน และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญ ที่หมายถึง สิทธิเสรีภาพ,การมีส่วนร่วมของพลเมือง,โครงสร้างทางการเมือง,กลไกรักษาวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ

รวมถึงกรณีการขอแก้ไข ภาคที่ 3 เรื่องหลักนิติธรรมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และภาคที่ 4 เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนั้น ต้องส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วย เว้นแต่จะแก้ไขด้วยเจตนาจะขยายสิทธิ์ เพิ่มการมีส่วนร่วม หรือเพิ่มประสิทธิภาพ

ส่วนที่ 3 คือ มาตรา 303 กำหนดว่าทุกรอบ 5 ปีนั้น คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระจะทำหน้าที่ประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่ทั้ง 3 ส่วนนี้ มีหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรา 301และ 302 ซึ่งต้องเสนอเป็นญัตติ โดยครม.,ส.ส.ไม่น้อยกว่า1ใน 4 ของที่มีอยู่ หรือจากส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา หรือจากพลเมืองผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ผ่านสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ

สำหรับล็อคที่ 2 ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเจตนาปกป้องรัฐธรรมนูญนั้น คือการสร้างมวลชนหรือสร้างเครือข่ายป้องรัฐธรรมนูญขึ้นแต่นางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการเพื่อสร้างเครือข่ายและขับเคลื่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ระบุว่า ภารกิจขับเคลื่อนงานด้านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดียมีมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งเว็บไซต์ตรงของกรรมาธิการยกร่างฯ, เฟซบุ๊ก “รัฐธรรมนูญของฉัน” และการใช้ช่องทางเว็บไซต์ยูทูป แต่มีเจตนาที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนเท่านั้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง