เด็กเร่ร่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น-ช่วยเหลือยาก วอนรัฐหนุนครูข้างถนน

10 ต.ค. 55
14:17
498
Logo Thai PBS
เด็กเร่ร่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น-ช่วยเหลือยาก วอนรัฐหนุนครูข้างถนน

เด็กไทยเร่ร่อนในปัจจุบันคาดว่ามีมากกว่า 30,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเด็กเร่ร่อน ยอมรับว่าการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ทำได้ยาก เพราะสถานการณ์เด็กเปลี่ยนไปจากเด็กเล็ก เป็นวัยรุ่น และดำรงชีวิตด้วยการขายบริการทางเพศ ตระเวนก่ออาชญากรรม ขายยาเสพติด ขณะที่ครูข้างถนนมีองค์ความรู้ด้านการช่วยเหลือเด็กน้อยมาก จึงเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการทำงานทั้งการถอดรูปแบบวิธีคิดและงบประมาณ

เด็กเร่ร่อนที่ติดตามเพื่อขอเงินจากนักท่องเที่ยว บริเวณด่านชายแดนไทย - พม่า อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังเป็นภาพที่พบเห็นเป็นประจำ เด็กๆ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดน ใต้สะพานข้ามแม่น้ำสาย อยู่รวมกันเป็นกลุ่มประมาณ 5 - 10 คน อายุระหว่าง 7 - 12 ปี และยังพบด้วยว่าบางคนติดสารระเหย ทำให้ทุกๆวัน ครูข้างถนนจากมูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก อ.แม่สาย ลงพื้นที่ คอยช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้ ทั้งสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาสุขภาพและยังจัดหาขนม อาหาร มาให้ พร้อมกันนี้ก็ไม่ลืมที่จะชักชวนเด็กๆ ให้มาอยู่ด้วยกันที่มูลนิธิฯ

<"">

 

ข้อมูลจากองค์กรเอกชน คาดการณ์ว่าปัจจุบัน มีเด็กเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน ยังไม่นับรวมเด็กต่างด้าว ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก บอกว่า ปัจจุบันการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนทำได้ยาก เพราะสถานการณ์เด็กเปลี่ยนไปจากเด็กเล็ก เป็นวัยรุ่น และดำรงชีวิตด้วยการขายบริการทางเพศ ตระเวนก่ออาชญากรรม ขายยาเสพติด ซึ่งครูข้างถนน มีองค์ความรู้ด้านการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้น้อยมาก และแทบไม่มีบ้านแรกรับเพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้

<"">
<"">

 

ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เป็นห่วงว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะยิ่งทำให้การหลั่งไหลของครอบครัวต่างด้าว และมีเด็กต่างด้าว เข้ามาเร่ร่อนในไทยมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐ ยังไม่ได้เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่า องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเด็กเร่ร่อน ควรได้รับการสนับสนุนจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ปี 2546

วิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า การแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนขณะนี้ ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ภาครัฐควรประสานการทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนมากขึ้น โดยอาจถอดรูปแบบการทำงานของครูข้างถนน เพื่อจัดทำเป็นแนวทางดูแล ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนอย่างรอบด้าน

<"">

 

สอดคล้องกับข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรเอกชน ที่ต้องการให้ภาครัฐ กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานแบบองค์รวม แบ่งหน้าที่ และรับผิดชอบการแก้ปัญหาโดยเฉพาะด้านครอบครัว จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานด้านเด็กอย่างต่อเนื่อง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง