ปัญหากดขี่เเรงงานข้ามชาติ

15 ต.ค. 55
15:14
3,075
Logo Thai PBS
ปัญหากดขี่เเรงงานข้ามชาติ

เเม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิเเรงงานข้ามชาติ เเละกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ เเต่ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมาย ก็ยังไม่ครอบคลุมทำให้เเรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการคุ้มครองตามกำหมายเเรงงานได้ นายจ้างบางคนจึงอาศัยช่องทางนี้ กดขี่เเละทำร้ายเเรงงานข้ามชาติ โดยไม่มีการเอาผิดหรือฟ้องร้องดำเนินคดี

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยส่งผลให้มีความต้องการเเรงงานเพิ่มขึ้น เเรงงานข้ามชาติราคาถูก จึงเป็นกลุ่มเเรงงานที่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงต้องพึ่งพา เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เเละการส่งออกสินค้า

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรเเละสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเเรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศกว่า 2 ล้านคน มากกว่าครึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เเละเขตภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นเเรงงานจากประเทศพม่า ลาว เเละกัมพูชา

แต่สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานกลับน้อยมาก และบางครั้งอาจดูเป็นเรื่องธรรมดา ที่แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะถูกกดขี่ และถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง เช่น ให้ทำงานโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ได้รับค่าจ้างไม่เป็นธรรม ถูกทำร้ายร่างกาย เเละล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า แรงงานทุกคนที่ทำงานในประเทศไทยจะต้องได้รับการคุ้มครอง

คำยืนยันจากทีมเเพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ระบุว่า 1 ใน 3 โครงกระดูก ที่ขุดพบในไร่ของ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ คือนายตั้ง หรืออีต้า ซึ่งเป็นหนึ่งในคนงานพม่าที่ทำงานภายในไร่ เเม้ว่าคดีดังกล่าวจะยังไม่มีการระบุถึงสาเหตุการฆาตกรรมที่เเน่ชัด เเต่อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึง คือมีการกดขี่ เเละทารุณกรรมเเรงงานภายในไร่ จนเป็นเหตุทำให้เเรงงานชาวพม่าเสียชีวิตหรือไม่

เเม้ที่ผ่านมา ข้อมูลการร้องเรียนของเเรงงานข้ามชาติที่ถูกนายจ้างกดขี่ เเละทารุณกรรม จะไม่ค่อยปรากฏให้สังคมภายนอกได้รับรู้บ่อยนัก เเต่นั่นเป็นสิ่งที่องค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนกังวลใจไม่น้อย เนื่องจากสถานประกอบการบางเเห่งเป็นสถานที่ส่วนบุคคล การออกมาร้องเรียนของผู้ถูกกระทำ เเละการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ จึงทำได้ยาก อีกทั้งเเรงงานข้ามชาติบางคน ไม่มีเอกสารการเข้าเมืองอย่างถูกต้อง ทำให้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ขณะที่นายจ้างบางคนก็อาศัยช่องทางนี้กดขี่ เเละทารุณ

ปัจจุบัน ภาครัฐมีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเเรงงานข้ามชาติ เเละกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ เเต่การบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่ครอบคลุม เเละไม่เข้าถึงกลุ่มเเรงงานข้ามชาติ

ข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรเเละสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า รายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ล่าสุด จัดอันดับให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง ซึ่งหมายถึงประเทศที่ปฏิบัติตามกฎหมายการค้ามนุษย์ยังไม่ถึงระดับมาตรฐานสากล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง