เปลี่ยนผู้นำญี่ปุ่น ลุยฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ยากจะแก้โจทย์เชิงโครงสร้างระยะยาว

ต่างประเทศ
17 ธ.ค. 55
09:43
33
Logo Thai PBS
เปลี่ยนผู้นำญี่ปุ่น ลุยฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น  แต่ยากจะแก้โจทย์เชิงโครงสร้างระยะยาว

แม้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา จะออกมาสอดคล้องกับกระแสการคาดการณ์ของตลาด

 แต่คะแนนเสียงที่ทิ้งห่างของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยนายชินโซ อาเบะ เหนือพรรคประชาธิปไตย (DPJ) ของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ก็เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านผู้นำของญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 2555 นี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแนวนโยบายเศรษฐกิจในปี 2556 พอสมควร ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและประเด็นแวดล้อมที่สำคัญในปีหน้า ดังนี้:-

การกลับมาบริหารประเทศอีกครั้งของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่นำโดยนายอาเบะ อาจนำไปสู่การพลิกโฉมหน้านโยบายเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นเชิงกระตุ้นมากขึ้น

โดยมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเผชิญแรงกดดันทางการเมืองให้ดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้นในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หลังมีการเปลี่ยนโฉมหน้าของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายชัดเจนในการฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นจากภาวะถดถอยและแก้ไขปัญหาเงินฝืดที่เรื้อรังยาวนาน

โดยคาดว่า การเพิ่มปริมาณการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของBOJ อาจทำให้การเคลื่อนไหวของเงินเยนโน้มไปในด้านอ่อนค่ามากขึ้นในปี 2556 หลังจากที่อ่อนค่าลงแล้วกว่าร้อยละ 8.0 นับจากต้นปี 2555 (โดยร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ หลังผลการเลือกตั้ง) นอกจากนี้ ชัยชนะอย่างท่วมท้นเกิน 2 ใน 3 ของที่นั่งทั้งหมดของพรรค LDP ก็น่าจะทำให้รัฐบาลใหม่ของนายอาเบะ สามารถผลักดันมาตรการทางการคลังที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ราบรื่นมากขึ้น

นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการกระตุ้นของญี่ปุ่นในปี 2556 อาจไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ที่ซับซ้อนของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ญี่ปุ่นเผชิญโจทย์เศรษฐกิจที่ทับซ้อนกันระหว่างผลกระทบจากเส้นทางการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และปัญหาเชิงโครงสร้างของญี่ปุ่นที่ยากจะแก้ไขให้หลุดพ้นภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดจุดยืนที่แข็งกร้าวในประเด็นเรื่องข้อพิพาทกับจีนเหนือหมู่เกาะเซนกากุ การรักษาความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจญี่ปุ่นในเวทีโลก รวมถึงแนวการบริหารจัดการพลังงานนิวเคลียร์และโครงสร้างประชากรสูงวัยที่ยากจะเปลี่ยนผ่านในระยะเวลาอันสั้น

ขณะที่ ปัญหาเรื้อรังของภาวะเงินฝืดซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวสะท้อนความซบเซาของการใช้จ่ายภายในประเทศ และระดับหนี้ภาครัฐที่น่าจะยืนในกรอบที่สูงกว่าร้อยละ 200 ของจีดีพีในช่วงหลายปีข้างหน้า (เพราะนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาลอาเบะ) ตลอดจนความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ ก็น่าจะเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักให้ญี่ปุ่นยังคงเผชิญภาวะที่ยากลำบากในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

สรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของญี่ปุ่นที่ถูกฝังรากลึก อาจทำให้การพลิกแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับขยายตัวอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้าระหว่างสมัยการบริหารประเทศเป็นครั้งที่ 2 ของนายชินโซ อาเบะ ผู้นำพรรค LDP ไม่ง่ายนัก

แม้ว่าการสลับขั้วทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาดังกล่าว จะนำไปสู่การพลิกโฉมหน้านโยบายเศรษฐกิจในปี 2556 ที่เน้นการกระตุ้นทั้งจากมิติการเงินและการคลังมากขึ้นก็ตาม

กระนั้น จุดยืนนโยบายเศรษฐกิจเชิงผ่อนคลายของญี่ปุ่นที่น่าจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2556 แม้อาจจะเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลของนายอาเบะบรรลุเป้าหมายระยะสั้นในการดึงเศรษฐกิจขึ้นจากภาวะถดถอย แต่ก็ไม่น่าจะลบล้างผลด้านลบจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะเปลี่ยนผ่านไปได้ในระยะเวลาอันสั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2556 อาจเติบโตในกรอบร้อยละ 0.2-1.2 (กรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 0.7) ซึ่งชะลอลงกว่าที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.7 ในปี 2555 โดยแม้ว่าภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอาจได้รับอานิสงส์จากเงินเยนที่น่าจะได้รับแรงกดดันภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างมากของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

แต่โมเมนตัมของการฟื้นตัวของภาคการส่งออกก็ยังคงขึ้นอยู่กับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะก้าวกระโดด แต่กระนั้น จังหวะที่เงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าจากนโยบายของ BOJ ในช่วงปีข้างหน้า ก็อาจเปิดโอกาสสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนจากหลายด้านพร้อมๆ กัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง