การจัดเรทติ้งให้กับละครที่มีเนื้อหารุนแรง

Logo Thai PBS
การจัดเรทติ้งให้กับละครที่มีเนื้อหารุนแรง

ทุกครั้งที่ละครนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง และเป็นเหตุให้เยาวชนเลียนแบบพฤติกรรม หลายฝ่ายรวมถึงผู้ชม มักจะเห็นพ้องและวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังชัดเจน ในปีหน้านี้มีแนวโน้มว่าละครหลายเรื่องอาจถูกวิพากษ์เหมือนดังที่ผ่านมา ทางออกควรเป็นเช่นไร

เรตติ้งวันสุดท้ายถึง 16 ส่งให้แรงเงาเป็นละครที่มีเรตติ้งตอนจบสูงที่สุดของช่อง 3 ในปีนี้ ความรุนแรงในละครยังถูกพูดถึงไม่ต่างจากดอกส้มสีทองที่เคยสร้างกระแสเรยาฟีเวอร์เมื่อปีก่อน แม้เป็นละครเก่าที่นำมาสร้างใหม่แต่ด้วยเนื้อหาและบทละครที่มีการปรับให้เข้มข้นสอดคล้องกับยุคสมัยจึงถูกใจผู้ชมและเป็นประเด็นในโซเชียลมีเดียตลอดระยะเวลาที่ละครออกอากาศ

เวลา 20.00 น. ช่วงละครหลังข่าว เป็นเวลาที่ครอบครัวส่วนใหญ่อยู่พร้อมหน้า และอาจมีเด็กร่วมรับชม เสียงวิพากษ์จากตัวแทนผู้ชมบางกลุ่มไปยังผู้รับผิดชอบ เช่น กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งทำหน้าที่กำหนดเรตติ้งสื่อ ให้ช่วยออกมาดูแล แต่ก็เหมือนเช่นเดิมทุกครั้งที่หน่วยงานรับผิดชอบออกมาตำหนิการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมในละคร และจบลงพร้อมไปกับละครลาจอ

ขณะที่การควบคุมความเหมาะสมของเนื้อหาในภาพยนตร์ด้วยการจัดเรตติ้งดูมีความชัดเจนกว่า เช่น ภาพการใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงของวัยรุ่นช่วงวันนับถอยหลังขึ้นปีใหม่ ที่มีทั้งยาเสพติดและความรุนแรงในภาพยนตร์เรื่อง Countdown ถูกจัดให้อยู่ในเรต น.18+ เหมาะสมสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป หากหนังไทยเรื่องนี้ฉายทางโทรทัศน์ต้องออกอากาศระหว่างเวลา 22.30 น. แต่ไม่เกินตี 5 ของวันใหม่ ตามประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันนี้กับละครที่จัดอยู่ในเรต น.18+ ว่าควรอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน เพราะเป็นเวลาที่เด็กและเยาวชนเข้านอนแล้ว เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา ที่เห็นว่าสื่ออาจเสนอภาพความรุนแรงได้แต่ต้องเหมาะสมกับวัยของผู้ชมและช่วงเวลาออกอากาศ

  

<"">
 
<"">

หลายประเทศในยุโรปและตะวันออกกลางให้ความสำคัญกับการกำหนดอายุผู้ชมพร้อมไปกับช่วงเวลาการชม โดยในช่วงค่ำจะมีการนำเสนอละครครอบครัวสร้างสรรค์หรือสารคดีเป็นหลัก ส่วนรายการและละครที่ได้เรต น 18+ และ ฉ จะนำออกอากาศหลังเที่ยงคืนไปแล้ว แม้จะมีผู้ค้านว่าท้ายที่สุดแล้วเด็กและเยาวชนก็สามารถรับชมจากช่องทางอื่นอย่างอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียได้เช่นกันแต่ก็ยังถือว่าได้มีการหนดกติการ่วมกันในสังคม

ขณะที่ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวว่า น่าจะปล่อยให้ตั้งคำถามประมาณว่า ภาพยนต์มีการกำหนดชัดเจน แต่ละครทีวีไม่มีเพราะอะไร และนำไปสู่ปัญหาอะไร

ละครซีรีส์ที่เคยสร้างชื่อให้นักแสดงหน้าใหม่ ยังคงเป็นจุดขาย ขณะที่คู่แข่งอีกช่องวางละครฟอร์มใหญ่จากบทประพันธ์ดัง ที่ตั้งใจสร้างมาหลายปี เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ละครทั้ง 2 ช่อง ที่ช่วงชิงพื้นที่ละครเย็น และช่วงหลังข่าว

นอกเหนือจากละครที่สร้างจากนวนิยายชื่อดัง สูตรสำเร็จสำหรับละครในปีหน้ายังเป็นละครรีเมค ที่เคยครองใจผู้ชม ต่างตรงที่เนื้อหาอาจมีความเข้มข้นขึ้น รวมถึงดัดแปลงบทให้สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อความใกล้ชิดกับผู้ชม

 

<"">
 
<"">

การโพสต์ข้อความและรูปภาพบนพื้นที่สาธารณะอินเทอร์เนต เป็นส่วนหนึ่งของการเดินเรื่องละครหลายเรื่องในปีนี้ สะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะสังคมเมือง ยังมีบทเจรจาโต้ตอบอย่างออกรส บวกกับความประทับใจในบทประพันธ์ดัง หรือละครเรื่องเดิมที่อยู่ในความจดจำ ล้วนเป็นปัจจัยให้ละครได้รับความนิยม สามารถสร้างกระแสได้เหมือนกับครั้งหนึ่งที่ภาพยนตร์เคยเป็น แต่อีกด้านเนื้อหาละครที่มักนำเสนอภาพความรุนแรง หรือไม่เหมาะสมเป็นจุดขาย ทำได้เพียงขึ้นข้อความแนะนำว่าไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน อาจไม่เพียงพอสำหรับสื่อทีวีที่สามารถเข้าถึงผู้ชมถึงในบ้าน

ด้าน สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ยุคนี้ละครเป็นที่นิยมเพราะละครเข้าถึงทุกบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการชม สิ่งที่ทำได้คือการปลูกฝังเรื่อง Media Literacy

ผลสำรวจ "สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว" เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จากกลุ่มตัวอย่าง 1,005 ราย ให้ความเห็นว่าสื่อละคร สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงถึงเกือบร้อยละ 70 ขณะที่ข้อสรุปเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมสำหรับผู้ชมรายการโทรทัศน์ยังไม่มีความชัดเจน สิ่งที่ทำกันได้คือจัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้รู้เท่าทันสื่อเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ตนเองได้มากที่สุดในยุคที่ใครๆก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างอิสระ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง