ผู้สื่อข่าวในจีน ร้องให้จนท.ประชาสัมพันธ์ลาออก หลังแก้ไขบทบก.

ต่างประเทศ
8 ม.ค. 56
03:31
30
Logo Thai PBS
ผู้สื่อข่าวในจีน ร้องให้จนท.ประชาสัมพันธ์ลาออก หลังแก้ไขบทบก.

เมื่อวานนี้ (7ม.ค.56) มีผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ "เซ้าท์เทิร์น วีคลี่" พร้อมด้วยผู้สนับสนุนนับร้อยคน จัดการประท้วงในมณฑลกวางตุ้ง โดยเรียกร้องให้หัวหน้ากรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐลาออก หลังจากแก้ไขเนื้อหาในบทบรรณาธิการจากเดิมที่เป็นบทความเรียกร้องให้ปฏิรูปประชาธิปไตย แต่ถูกเขียนใหม่ กลายเป็นบทความสรรเสริญพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน นำมาสู่การประท้วงของสื่อมวลชนในจีนแผ่นดินใหญ่ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การชุมนุมมีขึ้นหน้าสำนักพิมพ์ของบริษัท "เซ้าท์เทิร์น มีเดีย กรุ๊ป" ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์"เซ้าท์เทิร์น วีคลี่" โดยผู้ประท้วงก็มีทั้งผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆในเครือ ผู้ประท้วงบางคนถือดอกเบญจมาศสีขาว ซึ่งเป็นดอกไม้ชที่ใช้ในงานศพ และเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียเสรีภาพสื่อ ข้อเรียกร้องของสื่อมวลชนในครั้งนี้ คือต้องการให้รัฐบาลปลดนายเต๋า เซิน หัวหน้ากรมประชาสัมพันธ์ของเมือง ซึ่งเป็นคนแก้ไขบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์"เซ้าท์เทิร์น วีคลี่" ฉบับต้อนรับปีใหม่ ซึ่งบทความเดิมมีเนื้อหาเรียกร้องให้คณะผู้บริหารชุดใหม่ของจีน ที่นำโดยนายสี จิ้นผิง ปฏิรูปการเมืองของประเทศ

แต่ปรากฏว่านายเต๋า เซิน ได้แก้ไขบทบรรณาธิการใหม่ กลายเป็นบทความที่มีเนื้อหาสรรเสริญพรรคคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังระบุว่าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เป็นผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ซึ่งก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมงานของนสพ.ได้ยื่นจดหมายเปิดร้องเรียน โดยมีนักวิชาการจากทั่วประเทศ รวมถึงฮ่องกงและไต้หวัน ร่วมลงชื่อขอให้นายเต๋า เซินลาออก

ส่วนกระแสในโลกออนไลน์มีคนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นและสนับสนุนการประท้วงของสื่อมวลชน แต่สำหรับเว็บสังคมออนไลน์ชื่อดังของจีนอย่าง"เว่ยโป" เมื่อพิมพ์คำว่า"เซ้าท์เทิร์น วีคลี่" จะไม่สามารถค้นหาข้อมูลได้ 

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์"เซ้าท์เทิร์น วีคลี่" เป็นหนึ่งหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดและมีอิทธิพลต่อสังคมจีน ซึ่งมียอดพิมพ์มากกว่า 1,600,000,000 ฉบับ และมีอิทธิพลต่อสังคมจีน  เพราะมักจะเขียนข่าวประเด็นหนัก เช่น การระบาดของโรคเอดส์ในชนบทและสภาพการทำงานในโรงงานฟ็อกคอนน์ ซึ่งมีคนฆ่าตัวตายจำนวนมาก เพราะทนแรงกดดันจากการทำงานไม่ไหว

ทั้งนี้ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนของจีนออกมาปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ถือเป็นบททดสอบอีกเรื่องที่นายสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน คงต้องหาทางรับมือกับปัญหานี้

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง