บุกรุกป่าทำ "สวนยาง" หนึ่งสาเหตุ ทำดินโคล่นถล่มใน จ.นครศรีฯ.

ภูมิภาค
13 ม.ค. 56
13:20
868
Logo Thai PBS
บุกรุกป่าทำ "สวนยาง" หนึ่งสาเหตุ ทำดินโคล่นถล่มใน จ.นครศรีฯ.

ปัญหาดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกมองว่า สาเหตุหนึ่งเกิดการบุกรุกป่าด้วยการทำสวนยางพารา พืชยืนต้นเชิงเดี่ยวที่มีประสิทธิภาพยึดเกาะหน้าดินได้น้อยเพราะไม่มีรากแก้ว แม้หน่วยงานภาครัฐนำมาตรการต่างๆ เข้าไปแก้ปัญหา แต่กลายเป็นเรื่องที่ยังหาจุดจบไม่ได้ เพราะติดปัญหาด้านวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ต้นยางพาราอายุเพียง 1 ปี ถูกเร่งนำมาปลูกบนเนื้อ ที่เหลือเพียง 3 ไร่ ของนางพรทิพย์ เพชรเจริญ ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากพื้นที่ ที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์กว่า 20 ไร่ ของเธอ ต้องสูญสิ้นไปกับเหตุการณ์ดินถล่มเมื่อเดือนเมษายน 2554

ยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว ที่เกษตรกรในภาคใต้ นิยมปลูกกันอย่างกว้างขว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ป่าในปัจจุบันถูกบุกรุกเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชบางส่วนที่หายไปด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ น้ำป่า ดินโคลนถล่มครั้งใหญ่ ที่อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล เมื่อปี 2554 ส่งผลให้ทรัพย์สิน ชีวิต บ้านเรือน จำนวนมากต้องสูญหายไปกับกระแสน้ำ ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำสวนยางพารา เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดการสูญเสีย

ขณะที่บางฝ่ายยอมรับว่า ยางพาราไม่สามารถยึดเกาะดินได้ดีกว่า ไม้ยืนต้นทั่วๆไปที่มีรากแก้ว ซึ่งให้ความแข็งแรงในการยึดเกาะหน้าดินได้ดีกว่า แต่ในความเป็นจริง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การปลูกยางพาราของชาวบ้านเท่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่จริงใจของภาครัฐ ทั้งที่ต้นตอของปัญหา อยู่ที่กลุ่มทุน โดยเฉพาะการเข้าไปสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า

ต้นยางขนาดใหญ่ ที่หมดน้ำยางในสวนยางหลายสิบไร่ บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ ที่ สุธรรม รักษาแก้ว รองประธานสภาองค์กรชุมชน ต.กรุงชิง บอกว่า ไม่สามารถเข้าไปตัดโค่น หรือปลูกใหม่ได้ หลังถูกประกาศทับให้เป็นพื้นที่อุทยาน เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก ทั้งที่พื้นดินแห่งนี้ เคยเป็นที่ทำมาหากินมาช้านาน ทำให้ชาวบ้าน บางส่วนอยู่อย่างไม่มีความหวังในชีวิต

การเร่งแก้ปัญหาดินโคลนถล่มของภาครัฐ แม้โดยรวม คนภายนอกจะเห็นดีเห็นงาม แต่สำหรับคนในพื้นที่แล้ว ยังคงเป็นเส้นขนานในจิตใจ ที่ยังหาจุดจบไม่ได้ อย่างไรก็ตามชาวบ้านทุกคนที่นี่ บอกว่ายังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการแก้ปัญหา เพียงแต่ขอความเข้าใจ จริงใจ และความเป็นธรรมให้กับพวกเขา เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ แม้วันข้างหน้าต้องเผชิญภัยพิบัติ พวกเขาก็พร้อมที่อยู่สู้รับมืออย่างเต็มที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง