"ฮอร์ นัมฮง" ยอมรับอาจแพ้คดีในศาลโลก

ต่างประเทศ
3 มิ.ย. 54
08:31
14
Logo Thai PBS
"ฮอร์ นัมฮง" ยอมรับอาจแพ้คดีในศาลโลก

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกปี 2505 ที่ให้อธิปไตยกัมพูชาเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชามั่นใจในแผนที่ที่ใช้ชี้แจงต่อศาลโลกว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชา แม้จะยอมรับว่ามีแนวโน้มที่ไทยจะชนะคดีในครั้งนี้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลังจากนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชากลับถึงสนามบินกรุงพนมเปญ ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายไทยจะชนะในการต่อสู้คดีที่ศาลโลก โดยนายฮอร์ นัมฮง ย้ำว่า แม้ศาลโลกจะยกคำร้องในครั้งนี้กัมพูชาไม่ได้เสียหายอะไร เพราะศาลโลกเคยตัดสินคดีเมื่อปี 2505 ยกพื้นที่เขาพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาแล้วตามหลักฐานแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000  ที่กัมพูชาใช้ชี้แจง

ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงท่าทีของกัมพูชาที่ยอมรับว่าอาจแพ้คดีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารว่า คงต้องรอการวินิจฉัยของศาลโลกก่อน แต่ไทยยังคงยืนยันจุดยืนในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 ที่ไม่ได้มีกองกำลังของไทยเข้าไปในตัวปราสาทพระวิหาร และได้วางรั้วลวดหนามไว้อย่างชัดเจน

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่าทางการไทยได้สรุปข้อมูลทั้งหมดทีนำไปชี้แจงต่อศาลโลกส่งให้สถานทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ที่ติดตามเรื่องนี้นำไปชี้แจงต่อประเทศต่าง ๆ โดยมั่นใจว่า คำพิพากษาเมื่อปี 2505 วินิจฉัยเฉพาะอธิปไตยเหนือตัวปราสาท ไม่ได้พูดถึงสถานะทางการหมายเรื่องเขตแดน ตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่ทางการกัมพูชาอ้างถึง จึงอยู่นอกเหนืออำนาจศาลโลก และเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ประเทศต้องเจรจากันเองในกรอบบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา หรือ เอ็มโอยู ปี 2543

ก่อนหน้านี้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อศาลมีคำตัดสินแล้วหากไทยไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง เรื่องทั้งหมดจะไม่กลับไปที่ศาลโลกเพราะศาลไม่มีอำนาจบังคับ ส่วนการบังคับให้เป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสซี ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดประชาคมโลก ซึ่งในหลักการไทยต้องรับผลบังคับในฐานะของสมาชิกของสหประชาชาติ และ ถ้าหากไม่ทำตามต้องไปชี้แจงกับยูเอ็นเอสซี

ทั้งนี้ขั้นตอนการพิจารณาขณะนี้ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดทำเอกสารข้อมูลเหตุการณ์ปะทะกันบริเวณชายแดนส่งให้ศาลโลกภายใน 7 มิ.ย. ซึ่งศาลก็จะมอบคำชี้แจงของแต่ละประเทศให้อีกฝั่งเพื่อทำข้อมูลแย้งและส่งคืนในวันที่ 14 มิ.ย.จากนั้น 3 สัปดาห์ก็จะมีคำตัดสินว่า จะรับหรือไม่รับการขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง