ชาวบ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ ร่วมฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมเขมรถิ่นไทย

Logo Thai PBS
ชาวบ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ ร่วมฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมเขมรถิ่นไทย

ความสับสนทางภาษาที่ใช้ปะปนกันระหว่างภาษาไทยและภาษาถิ่น เป็นปัญหาหนึ่งของโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-กัมพูชา ชาวบ้านโพธิ์กอง จังหวัดสุรินทร์จึงร่วมกันฟื้นฟูภาษาถิ่น จัดหลักสูตรในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เด้กรุ่นใหม่ให้เข้าใจภาษาถิ่นพร้อมไปกับภาษาไทย

คำเรียกนิ้วมือเป็นภาษาถิ่น ตรงกับความหมายในเพลงต้นฉบับ อย่างเพลงนิ้วอยู่ไหน อาศัยทำนองคุ้นหูช่วยให้จดจำง่าย ไม่เพียงทำให้ช่วงเวลาในการฝึกออกเสียงของเด็กๆ ไม่น่าเบื่อเกินไป แต่ยังสร้างความเข้าใจคำศัพท์ เพิ่มทักษะทางภาษา

ก่อนหน้านี้เด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่ สับสนจากการสื่อสารภาษาถิ่นที่บ้าน กับภาษาไทยในโรงเรียน จากหลักสูตรท้องถิ่นที่ชุมชนร่วมกันค้นคว้าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นำไปสู่การสอนอ่านเขียนภาษาถิ่นภาษาไทยอย่างเป็นระบบให้กับเด็กปฐมวัย โรงเรียนบ้านโพธิ์กอง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งไม่เพียงเข้าใจภาษาไทยมากขึ้น แต่ยังได้ฟื้นฟูภาษาเขมรถิ่นไทยเพื่อใช้สื่อสารอย่างถูกต้อง 

<"">
<"">

 

"ก่อนหน้านี้เด็กมีปัญหา เรื่องความเข้าใจภาษา จากการพูดของพ่อแม่ พอมาจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้ภาษา สอนผ่านสื่อต่างๆ"  สุดารัตน์ สายกลิ่น ครูผู้สอน คณะผู้วิจัยโครงการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมเขมรถิ่นไทย

การทำงานร่วมกันของโรงเรียนและชุมชน ในการสืบค้นคำในภาษาเขมรถิ่นไทย จากทั้งนิทาน ตำนานท้องถิ่น หรือแม้แต่คำที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน ทำให้พบว่าตัวอักษรที่ชาวบ้านออกเสียงบ่อยที่สุดคือ ต ซ บ  สระเอีย สระอี สระอา และตัวสะกดแม่เกย แต่งเป็นประโยคช่วยเพิ่มความเข้าใจ เช่น เตีย ซี บาย แปลว่าเป็ดกินข้าว สามารถนำตัวอักษรมาผสมเป็นคำใหม่ๆ นำมาบันทึกเป็นแบบเรียนภาษาเขมรถิ่นไทย ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่นี่

นอกจากแบบเรียนภาษาเบื้องต้น ยังร่วมกันพัฒนาสื่อการสอนที่สอดแทรกวัฒนธรรมถิ่น เช่นหนังสือเล่มยักษ์ เล่าถึงที่มาของท่ารำเลียนแบบตั๊กแตน ในเรือมกะโนบติงตอง หรือตั๊กแตนตำข้าว การละเล่นที่นิยมแพร่หลายในสุรินทร์ คิดค้นโดยเต็น ตระกาลดี เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว จากการสังเกตท่าทางของตั๊กแตนระหว่างเดินทางข้ามฝั่งไปค้าขายที่กัมพูชา นำมาดัดแปลงเป็นท่ารำสนุกสนานเข้ากับดนตรีกันตรึม

โดยหนังสือเล่มยักษ์และฉากภาพวัฒนธรรมนับ 100 ชิ้น จัดทำจากบัญชีคำที่พบในภาษาพูดของท้องถิ่น ช่วยเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการสื่อสาร

<"">
<"">

 

"จากเดิมพูดไม่ได้เลยค่ะ แต่เรียนไม่ยาก พอมาฝึกก็ทำให้พูดได้ อยากหัดเอาไว้พูดกับเพื่อนๆ" สลิล โสพิศ เยาวชนไทยเชื้อสายเขมร

"ก็ช่วยให้พูดภาษาได้ เอาไปพูดกับปู่ย่า ให้ลองออกเสียงคำต่างๆ ว่าออกเสียงอย่างไร" ชณันญา กลิ่นจับจีบ เยาวชนไทยเชื้อสายเขมร

"การเรียนภาษาถิ่นที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา จะช่วยให้เขาสามารถนำทักษะที่มีไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการเป็นประชาคมอาเซียน" ประชุมพร สังข์น้อย หัวหน้าโครงการฟื้นฟูภาษาฯ ผอ. รร.บ้านโพธิ์กอง

ที่ผ่านมาหลักสูตรภาษาท้องถิ่นจากการสืบค้นโดยชุมชนบ้านโพธิ์กอง สามารถนำไปรับรองระบบตัวเขียนภาษาเขมรถิ่นไทยจากราชบัณฑิตยสถานเมื่อปี 2555

คณะทำงานยังได้ร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนความเข้มแข็งด้านภาษาและวัฒนธรรมเขมรถิ่นไทยเตรียมสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมเป็นโรงเรียนต้นแบบ ขยายผลการเรียนรู้แบบสองภาษาให้กับโรงเรียน 234 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ

ความร่วมมือไม่เพียงฟื้นคืนภาษาของชุมชนไม่ให้สูญหาย ยังช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาให้คนรุ่นใหม่ เห็นในคุณค่าวัฒนธรรมของตนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง