แข่งอ่านอักษรเบรลล์มาราธอน สะท้อนปัญหาการขาดแคลนสื่อ

Logo Thai PBS
แข่งอ่านอักษรเบรลล์มาราธอน สะท้อนปัญหาการขาดแคลนสื่อ

สื่ออักษรเบรลล์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้การเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตายังไม่แพร่หลาย เวทีแข่งขันเขียนอ่านอักษรเบรลล์ ไม่เพียงพิสูจน์ศักยภาพของผู้พิการกลุ่มนี้ แต่ยังสะท้อนปัญหาการขาดแคลนสื่อ และโรงเรียนที่ยังมีอยู่น้อยมาก

นอกจากต้องอ่านด้วยการใช้ทักษะไล่นิ้วไปตามตัวอักษรเบรลล์อย่างคล่องแคล่ว ชลธิชา สวรรค์กสิกร ผู้เข้าแข่งขันการอ่านอักษรเบรลล์มาราธอน ยังต้องอดทนกับความเมื่อยล้า และอดนอนนานถึง 33 ชั่วโมง 33 นาที จนในที่สุดก็ทำลายสถิติการอ่านอักษรเบรลล์มาราธอนที่ตัวเองเคยทำไว้เมื่อ 3 ปีก่อน และคว้าแชมป์ในปีนี้เป็นสมัยที่ 2

โชคดีที่เธอได้ฝึกหัดอ่านมาตั้งแต่เด็ก ขณะที่คนตาบอดอีกหลายคนยังขาดโอกาส เพราะไม่เพียงขาดแคลนหนังสือที่พิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ แต่โรงเรียนสำหรับผู้พิการกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่น้อยมาก

<"">
<"">

 

"เครื่องแสดงผลเบรลล์มีราคาแพงมาก แค่แสดงผลได้ทีละบรรทัดก็ราคาเป็นแสน เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนตาบอดจะได้ใช้คอมพิวเตอร์ควบคู่กับอักษรเบรลล์จึงยากมาก" มณเฑียร บุญตันประธานโครงการแข่งขันการอ่านอักษรเบรลล์มาราธอน

"ต้องฝึกอ่านเยอะๆค่ะ และจะมีประโยชน์ให้เรารู้ตัวอักษรที่สะกดออกมาว่าถูกผิดอย่างไร และก็ให้ฝึกอ่านเยอะๆ" ชลธิชา สวรรค์กสิกร ผู้ชนะเลิศการแข่งขันอ่านอักษรเบรลล์มาราธอน

ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศเพียง 14 แห่งเท่านั้น และสามารถรับนักเรียนได้โรงเรียนละไม่เกิน 20 คนต่อปี แต่มีเด็กในวัยเรียนที่พิการทางสายตาถึงกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ

การจัดการประกวดแข่งขันอ่านและเขียนอักษรเบรลล์ จึงไม่เพียงเพื่อเป็นเวทีแสดงความสามารถของผู้พิการทางสายตา หากยังกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้พิการอย่างจริงจัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง