คนขับรถเมล์สาย 39 ปัดซิ่งแย่งคนจนชนคนตาย

อาชญากรรม
6 มิ.ย. 54
09:40
8
Logo Thai PBS
คนขับรถเมล์สาย 39 ปัดซิ่งแย่งคนจนชนคนตาย

คนขับรถเอกชนร่วมบริการสาย 39 ยืนยันไม่ได้ขับรถเร็ว เพื่อแข่งกับรถเอกชนร่วมบริการสาย 8 จนเสียหลักพุ่งชนคนที่บริเวณป้ายรถประจำทางจนเสียชีวิต แต่เป็นเพราะเบรคแตกจึงต้องหักหลบเข้าด้านซ้าย ขณะที่ตำรวจแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บ

นายนคร พาตินิวิทย์ คนขับรถร่วมบริการสาย 39 กล่าวว่า ไม่ได้ขับรถด้วยความเร็วเพื่อแข่งกับรถร่วมบริการสาย 8 จนเป็นเหตุชนนางนันทิยา พวงสุวรรณ เจ้าหน้าที่องค์การคุรุสภา เสียชีวิตบริเวณป้ายรถประจำทางหน้าวัดไผ่ตัน วานนี้ แต่เตรียมเหยียบเบรคชะลอรถเพื่อรับผู้โดยสาร ซึ่งพอเหยียบเบรคนั้นพบว่ามีปัญหา จึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหักหลบด้านซ้าย เพราะเกรงว่า รถที่ขับมาด้านหลังจะชนทำให้แก๊สอาจระเบิดลุกไหม้ขึ้นได้

ด้านเจ้าหน้าที่กู้ภัย เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้เข้าตรวจสอบพบผู้บาดเจ็บ คือน.ส.พรทิพย์ ประชาญสิทธิ์ อายุ 25 ปี อยู่ใต้ท้องรถร่วมบริการสาย 39 ซึ่งบาดเจ็บแผลฉีกขาดที่ขาด้านซ้าย ส่วนนางนันทิยา ผู้ตายล้มอยู่ตรงฟุตบาธ ซึ่งเจ้าหน้าที่รีบเข้าให้การช่วยเหลือ แต่ผู้บาดเจ็บทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิต

ส่วนบุตรสาวของนางนันทิยา เปิดเผยว่า แม่ได้เดินทางมารับตนเองหลังเลิกเรียนพิเศษจากโรงเรียนภายในซอยวัดไผ่ตัน ซึ่งระหว่างรถรถโดยสาร นางนันทิยา เห็นรถร่วมบริการสายดังกล่าวพุ่งเข้ามาจึงได้ผลักตนเองให้กระเด็นออกมา ส่วนนางนันทิยาหลบไม่ทันจึงถูกรถชน ขณะที่ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า รถร่วมบริการสาย 39 และสาย 8 ขับมาด้วยความเร็วและแข่งกันเพื่อแย่งกันรับผู้โดยสาร จากนั้นรถร่วมบริการสาย 39 พุ่งเข้ามาที่บริเวณป้ายรถประจำทาง 

สมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชนและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ปฏิเสธว่ารถร่วมฯคันดังกล่าว ไม่ได้เป็นสมาชิกของทั้ง 2 สมาคม แต่นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ ที่ปรึกษาสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน ให้ความเห็นว่า เป็นไปได้น้อยมากที่ระบบเบรคจะเกิดปัญหา เพราะหากระบบเบรคลมไม่ทำงาน เบรคไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบสำรองจะทำงานแทน หากพนักงานขับรถพบความผิดปกติของรถต้องแจ้งทำการซ่อมรถทันที และในกรณีนี้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบเครื่องยนต์ได้ว่าเกิดจากสาเหตุดังกล่าวตามที่อ้างหรือไม่ ส่วนการชดเชยค่าเสียหาย เบื้องต้นบริษัทประกันภัยจะชดเชยให้ผู้เสียชีวิตประมาณ 750,000 บาท

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ เลขาธิการนายกสมาคมรถโดยสารประจำทางไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถร่วมบริการ ขสมก.ทั้งหมด 4,000 คัน ไม่นับรวมมินิบัส ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ ขสมก. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ จะมาตรวจสอบความปลอดภัยของรถโดยสารตามอู่รถต่างๆ เป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว ขณะที่แต่ละอู่จะตรวจและซ่อมแซมรถหลังใช้งานในทุกวัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง