งานบุญ"ปอยหลวง" ประเพณีแห่งพลังศรัทธาสามัคคีชุมชน

Logo Thai PBS
งานบุญ"ปอยหลวง" ประเพณีแห่งพลังศรัทธาสามัคคีชุมชน

กว่าจะเป็นบุญปอยหลวง ประเพณีฉลองสมโภชวัดของชุมชน ชาวบ้านและวัดต้องใช้เวลาเตรียมงานไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อแสดงศรัทธาที่มีต่อพระศาสนา โดยที่วัดกู่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงความหมายของงานบุญ ที่มีความเสียสละและสามัคคีเป็นหัวใจหลัก

ความปีติยินดีร่วมกันในการทำนุบำรุงและดูแลพระศาสนา เป็นที่มาของงานปอยหลวงหรืองานฉลองสมโภชวัดกู่ ศูนย์รวมศรัทธาชุมชนในต.ช้างเคิ่ง ที่คณะสงฆ์และชาวบ้านเกือบ 30 วัดใน อ.แม่แจ่ม จัดขบวนครัวตานศรัทธา นำเครื่องไทยทานถวายวัด ฉลองกำแพงวัดใหม่ที่สร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ด้วยปัจจัยที่รวบรวมได้จากชุมชน แม้หลายหมู่บ้านจะต้องเดินทางไกล แต่ใจที่มั่นในประเพณี ก็ทำให้เครื่องทานที่มาร่วมบุญ ผ่านงานจัดเตรียมอย่างดี แสดงวิถีพื้นบ้าน หรือแม้แต่การพร้อมใจแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง

ทุกครั้งที่มีงานบุญใหญ่ นพรัตน์ ยารังกา เต็มใจตีกลองหลวงเป็นสัญลักษณ์ แม้ทั้งวันนี้งานของวัดจะทำให้สมาชิกในคณะรับหน้าที่หนักเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องตีกลองรับขบวนศรัทธาจากวัดอื่น ที่ทยอยมาถวายทานตลอดวัน แต่ก็คลายเหนื่อยได้ทุกครั้งเมื่อเห็นน้ำใจจากมิตรต่างหมู่บ้านที่มาร่วมบุญปอยหลวง

นพรัตน์ ยารังกา สมาชิกคณะฆ้องกลองหลวงวัดกู่ กล่าวว่า "ต้องตีรับทั้งวัน ทำจนกว่างานจะสำเร็จ เพราะเสียงกลองสำคัญกับความรู้สึกเมื่อมีงานบุญ ชาวบ้านได้ยินแล้วจะเป็นสุข"

เอกราช ร่มโพธิ์ กรรมการจัดงานประเพณีปอยหลวงวัดกู่ จ.เชียงใหม่ เผยว่า "เวลามีงานปอยหลวงจะเป็นงานใหญ่ที่ชาวบ้านมาฉลองร่วมกัน เป็นประเพณีที่สืบต่ออยู่ในล้านนาที่มาจากศรัทธาของคนกับวัด"

สำหรับประเพณีปอยหลวงครั้งหนึ่งๆ นั้น มีกำหนดการจัดงานหลายวันติดต่อกันค่ะ แบ่งเป็นการเตรียมงาน วันครัวตานศรัทธาชาวบ้าน ที่แต่ละบ้านในชุมชนรอบวัด จะนำข้าวของปัจจัยที่จำเป็นมาถวาย ซึ่งที่วัดกู่ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่วันนี้ถือเป็นวันสำคัญอีกวัน เพราะหัววัดต่างๆ ในแม่แจ่มและภายนอกที่เคยไปมาหาสู่ทำบุญร่วมกันมาก่อน จะได้แสดงศรัทธาผ่านขบวนครัวตาน ดูแล้วสวยงามอิ่มบุญแก่ผู้ที่ได้พบเห็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติและศรัทธาในพระศาสนา ทำให้ตลอดขบวนครัวตานของวัดช้างเคิ่ง ที่ชาวบ้านเกาะร่วมกันจัดเตรียมนานนับเดือน สะท้อนตัวตนของคนที่นี่

งานฝีมือตกแต่งต้นปัจจัย-สิ่งของถวายทานที่ทำมาก่อนหน้านี้ เป็นงานของผู้หญิงในหมู่บ้าน ใช้เวลาว่างจากงานไปจนค่ำรวมญาติมิตรมาทำงานส่วนรวมให้สำเร็จ ผ่านวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น หวังรักษาความหมายของการร่วมใจแต่งเครื่องทานงานบุญให้คงอยู่คู่วิถีถิ่นล้านนา

นางจุฑามาส พิทาคำ ชาวบ้านชุมชนบ้านเกาะ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า "หลักของประเพณีเป็นการรวมใจคนในชุมชน ซึ่งบุญแบบล้านนาต้องมาจากพลังศรัทธาร่วมงานจึงจะสำเร็จ ต่อให้ไม่ใช่วัดในบ้าน แต่ชาวบ้านก็จะเต็มใจช่วยงาน"งานบุญปอยหลวงเอกลักษณ์อย่างล้านนา เป็นการหลอมรวมผู้คนในชุมชน ให้ได้ร่วมสละเวลาและทรัพย์ สร้างครัวตาน โดยวัดในพื้นที่ยังคงสืบทอดแบบแผนการบอกบุญไปในแต่ละวัด หมุนเวียนช่วยงาน สร้างความกลมเกลียวในหมู่สงฆ์และชาวบ้านต่างชุมชน งานปอยหลวงครั้งนี้ ถือเป็นบุญฉลองสมโภชน์ถาวรวัตถุภายในวัดกู่ ที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม ที่นอกจากสืบต่อพระพุทธศาสนา ยังคงความหมายของประเพณีแห่งพลังศรัทธาสามัคคีชุมชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง